นายเขมทัศน์ สายเชื้อ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หรือ ธสน. เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปพบปะหารือกับหอการค้าจังหวัดและผู้ประกอบการท้องถิ่น พบว่า ผู้ประกอบการหลายรายสนใจสินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นบริการใหม่ของธนาคารในปี 2558 นี้ เนื่องจากมีจุดเด่นของบริการด้านระยะเวลาผ่อนชำระคืนเงินกู้นานสูงสุด 15 ปี ปลอดการชำระคืนเงินต้น 2 ปี และยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่พิเศษกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่หรือขยายกิจการที่ดำเนินการอยู่แล้วในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม และจังหวัดชายแดนตามนโยบายของรัฐบาลให้มากขึ้น ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวภายใต้บริการสินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1 เท่ากับ Prime Rate - 2.50% ต่อปี (ปัจจุบัน Prime Rate อยู่ที่ 6.50% ต่อปี) ปีที่ 2-8 เท่ากับ Prime Rate - 1.50% ต่อปี และปีที่ 9-15 เท่ากับ Prime Rate - 1.00% ต่อปี
นอกจากนี้ มีผู้ประกอบการบางรายต้องการวงเงินหมุนเวียนระยะสั้นด้วย EXIM BANK จึงได้ปรับปรุงบริการ โดยเสนอให้ลูกค้าที่ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 15 ปีภายใต้บริการนี้ ได้รับวงเงินหมุนเวียนระยะสั้นเพิ่มด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีโรงงานในพื้นที่เป้าหมายอยู่แล้ว สามารถนำวงเงินหมุนเวียนระยะสั้นดังกล่าวไปใช้ขยายกำลังผลิต เพิ่มยอดขายหรือมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้นได้ ทั้งนี้ จำนวนและระยะเวลาของเงินกู้ระยะสั้นต้องมีจำนวนไม่เกินเงินกู้ระยะยาวที่ได้รับอนุมัติ โดยกู้ได้ทั้งเป็นสกุลเงินบาทและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นำไปออกตั๋วสัญญาใช้เงินได้ไม่เกิน 180 วัน อัตราดอกเบี้ยสกุลบาทเท่ากับ Prime Rate - 1.50% ต่อปี และสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ LIBOR + 3.50% ต่อปี
ทั้งนี้ บริการสินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ และจังหวัดชายแดนของไทยทั้งหมด ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต พาณิชยกรรม และภาคบริการ เช่น คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน
โดยพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา นอกจากนี้ บริการนี้ยังครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใหม่ๆ ที่รัฐบาลจะประกาศจัดตั้งในอนาคตด้วย เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบคลัสเตอร์ใน 9 จังหวัด เป็นต้น
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////