นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การเดินอย่างกระฉับกระเฉง ปั่นจักรยาน รวมไปถึงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทาง จะทำให้ประชาชนเกิดกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งในประเทศไทยพบว่า ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ร้อยละ 29 และ อายุ 6-17 ปี ร้อยละ 73 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และเด็กตั้งแต่ อายุ 6 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง มากกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และจากผลสำรวจกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ปี 2559 พบว่าในแต่ละวันประชาชนใช้ระยะเวลากับกิจกรรมทางกายที่มากที่สุดคือ การทำงาน รองลงมาคือ มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง การเดินทาง และน้อยที่สุดคือ นันทนาการ การออกกำลังกายและกีฬา จึงควรส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นด้วยกิจกรรมง่าย ๆ คือ การเดินทางที่กระฉับกระเฉง เพื่อลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งเต้านมและลำไส้
“ทั้งนี้ การเดินอย่างกระฉับกระเฉง ทำให้เกิดการใช้พลังงานจากกิจกรรมทางกายถึงร้อยละ 15 ต่อวัน หรือ 180 กิโลแคลอรี่ สูงกว่าพลังงานจากกิจกรรมทางกายจากนันทนาการ ออกกำลังกายและเล่นกีฬา ที่ใช้เพียงร้อยละ 10 หรือ 126 กิโลแคลอรี่ ซึ่งผลจากการสำรวจกิจกรรมทางกายของคนไทย ในปี 2559 จำนวน 108,416 คน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีการใช้พลังงานจากกิจกรรมทางกายด้วยการเดินทางอย่างกระฉับกระเฉง ร้อยละ 17 ต่อวัน หรือร้อยละ 48 ของข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายขององค์การอนามัยโลก จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ก็สามารถมีกิจกรรมทางกายได้ง่าย ๆ ด้วยการเดินทางที่กระฉับกระเฉงทั้งการเดิน ปั่นจักรยานและขนส่งสาธารณะ ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ นอกจากจะสร้างสุขภาพที่ดีแล้ว ยังสนับสนุนให้ประชาชนลดการใช้ยานพาหนะ ส่วนบุคคลในการเดินทาง ลดการจราจรที่คับคั่ง ลดพลังงานจากเชื้อเพลิง ลดมลภาวะทางอากาศและเสียง และเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอีกด้วย”