นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า
กระทรวงพลังงาน ได้วางแผนปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมวางแผนระยะยาว 20 ปี และมอบหมายให้ สนพ. ศึกษาโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้พร้อมรับแนวทางการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไฟฟ้าในปัจจุบัน ทั้งในด้านภาคการผลิตและขนส่ง โดยมีภาครัฐเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อน ส่งเสริมให้ต้นทุนการผลิตมีราคาถูกลง ทั้งนี้ ยอมรับว่าการวางแผนการใช้ไฟฟ้าของประเทศในยุค DISRUPTION (ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับพลัน) เนื่องจากพฤติกรรมของประชาชนที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า (PROSUMER) ส่งผลให้การวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) มีความซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะนำแนวคิด PROSUMER เข้ามามีบทบาทในการวางแผนการผลิตและการใช้ไฟฟ้า เพื่อปรับปรุงแผน PDP2018 รองรับกับการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงของประเทศ
“กระทรวงพลังงาน และ สนพ.ยังคงให้ความสำคัญเรื่อง SMART GRID ที่มีความสำคัญต่อพลังงานไฟฟ้าของประเทศมากขึ้น โดยในปีพ.ศ. 2560 –2564 เป็นช่วงทดลองระบบ SMART GRID โดยจะมีการศึกษาเทคโนโลยี 5 ด้านเพื่อดูแลจัดการระบบจัดการพลังงาน ได้แก่ การบริหารจัดการพลังงานเกี่ยวกับอาคาร โรงงาน การตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ที่เป็นเหมือนโรงไฟฟ้าเสมือน (Visual Power Plant) ศูนย์พยากรณ์การใช้ไฟฟ้า ระบบแบตเตอรี่และระบบ Micro Grid โดยคาดหวังว่าจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีค และเพิ่มความแม่นยำในเรื่องของการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าให้แม่นยำมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และส่งเสริมเรื่องสถานีชาร์ตรถยนต์ไฟฟ้า (Charging Station) ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต