วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2562) เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ อาคารการประชุม ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 โดยการประชุมเต็มคณะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 หัวข้อ ASEAN-ROK 30&30
และ ช่วงที่ 2 หัวข้อ Enhancing Connectivity toward Prosperity and Sustainability
สำหรับการประชุมเต็มคณะ ช่วงที่ 1 หัวข้อ ASEAN-ROK 30&30 เพื่อทบทวนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และการกำหนดทิศทางในอีก 30 ปีข้างหน้านั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอาเซียนและประธานร่วม ได้กล่าวเปิดการประชุมฯ ว่าหลัก 3พี ซึ่งเน้นประชาชน ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ (People, Prosperity, Peace) ภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) ของประธานาธิบดีมุนฯ สอดคล้องกับสามเสาหลักของอาเซียนและวิสัยทัศน์ของอาเซียน โดยเฉพาะในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งเน้นการส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองสู่อนาคต ทั้งนี้ อาเซียนชื่นชมบทบาทของเกาหลีในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และยินดีที่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน-เกาหลีมีความคืบหน้าทุกด้าน มีความร่วมมือกันในหลายสาขา อาทิ ไอซีที พลังงาน ซึ่งเป็นสาขาที่เกาหลีมีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนยินดีที่ประเทศสมาชิก RCEP 15 ประเทศได้สรุปผลการเจรจาข้อบทสำหรับความตกลง RCEP และจะร่วมกันสรุปผลประเด็นสำคัญ เพื่อลงนามความตกลงฯ ในปี 2020 ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค นอกจากนี้อาเซียนยังให้ความสำคัญต่อการมีสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี จึงขอชื่นชมประธานาธิบดีมุนฯ ในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในคาบสมุทรเกาหลีโดยสันติวิธี ในการนี้นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับเกาหลี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
ประการแรก ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืนและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค อาเซียนและเกาหลีให้ความสำคัญกับการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง การหารือระหว่างรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติกับเกาหลีที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ จะช่วยเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน และหวังว่าเกาหลีจะสามารถร่วมมือกับอาเซียนจัดทำโครงการผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม เพื่อรับมือกับปัญหาของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ประการที่สอง ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เกาหลีซึ่งเชี่ยวชาญด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียวที่เน้นการใช้นวัตกรรม สามารถร่วมมือกับอาเซียนใน 2 เรื่อง คือ 1) ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะในมิติของการส่งเสริมแรงงานของอาเซียนให้พร้อมรับมือกับความท้าทายของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 2) พัฒนาเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม
ประการที่สาม ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสังคมและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรียินดีที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนของกรุงเทพฯ และศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนของนครปูซาน โดยขอให้ศูนย์ทั้งสองจัดทำโรดแมปของความร่วมมือเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ซึ่งสอดรับกับการเป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนในปีนี้ด้วย
สำหรับการหารือเต็มคณะ ช่วงที่ 2 หัวข้อ Enhancing Connectivity toward Prosperity and Sustainability เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นความเชื่อมโยง ในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนของภูมิภาคในทุกมิติ นั้น นายกรัฐมนตรีเสนอ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
ประการแรก ความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนวัตกรรม นำมาซึ่งผลประโยชน์สำหรับทุกภาคส่วน เพื่อปูทางไปสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในระยะยาว ซึ่งความตกลง RCEP จะมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ สำหรับความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล จะช่วยส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากโฟร์ไออาร์อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ประการที่สอง ความเชื่อมโยงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนและการผสานความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค อาทิ MPAC2025 ของอาเซียน นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของเกาหลี BRI ของจีน เป็นต้น ทั้งนี้การรับรองแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่สำคัญและควรนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ประการที่สาม ความเชื่อมโยงที่มีความยั่งยืนต้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการส่งเสริมความเชื่อมโยง อาเซียนและเกาหลีต้องร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยควรให้ความสำคัญต่อความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดน การเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ และการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ