พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดงาน “Thailand Rubber Expo” โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไท ย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรี เอกอัครราชทูต เข้าร่วม วันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๓๐- ๑๑.๐๐ น ณ อิมแพค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ ๕ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยงานนี้จัดโดยการยางแห่งประเทศไทย มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เป็นผู้ดำเนินการ
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ ๒๐ ปี และแผนบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔ มียุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้า(ยางพารา) รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นและสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่ดี มั่นคงและยั่งยืน
แม้ว่าในอดีตอุตสาหกรรมยางพาราของไทยมีความเติบโตตามทิศทางราคายางและความต้องการใช้ยางทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางของไทยกำลังเผชิญกับความท้าท้ายจากภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน ประเทศที่เป็นตลาดหลักยางพาราที่ไทยต้องพึ่งพาเพื่อการส่งออก เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรปมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หรือประเทศคู่มิตรอย่างจีนที่ต้องการเป็นศูนย์กลางสินค้ายางพาราระดับโลกตามแผนพัฒนาของจีน
มีการลงทุนปลูกยางในประเทศอื่นเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งจะทำให้จีนสามารถเพิ่มผลผลิตยางพาราเพื่อใช้ภายในประเทศมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของไทยได้
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางแบบครบวงจร มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราในภูมิภาค เพื่อรักษาระดับผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก รวมทั้ง การส่งเสริมให้ผู้ผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก พร้อมยกระดับและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้ายางพาราไทย ให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อในต่างประเทศอย่างที่เป็นมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความต้องการของยางพาราในตลาดโลก รัฐบาลไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะตลาดส่งออกหลักเท่านั้น แต่ยังคงดำเนินงานเชิงรุกเพื่อแสวงหาและขยายไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอื่นๆ เช่น อินเดีย ตุรกี เยอรมนี รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ยาง อันเป็นมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในการสร้างเสถียรภาพราคายางให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางของประเทศไทย
อุตสาหกรรมยางของไทยมีจุดแข็งเนื่องจากมีหน่วยงานกำกับและดูแลส่งเสริมอุตสาหกรรมยางอย่างครบวงจร เช่น กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์และเอกชนในหลายภาคส่วนในการร่วมกันพัฒนาและผลักดันสินค้ายางพาราของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี
สำหรับการจัดงาน “Thailand Rubber Expo ” ในครั้งนี้ ซึ่งมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทยเป็นแม่งานหลัก ในฐานะหน่วยงานที่ใกล้ชิดและเข้าใจถึงความต้องการของเกษตรกรโดยตรง จัดงานนี้ขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในกลไกและเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมยางพาราไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้ั้งนำไปสู่ความร่วมมือ การสร้างเครือข่าย การเจรจาการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพี่น้้องเกษตรกรชาวสวนยางไทยต่อไป
ด้านนายเฉลิมชัย กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ในแต่ละปีประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก ผลผลิตต่อปีเฉลี่ย ๔.๙ ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า ๑.๕ แสนล้านบาท มีเกษตรกรอยู่ในวงจรการผลิตกว่า ๑.๗ ล้านครัวเรือน การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร บริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินของกองทุนพัฒนายางพารา รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยการส่งเสริมสนับสนุน และจัดให้มีการศึกษา วิเคราะห์วิจัย พัฒนาเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับยางพารา ส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การประกอบธุรกิจ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงดำเนินการให้ระดับราคายางพารามีเสถียรภาพ
การที่การยางแห่งประเทศไทย จะก้าวสู่การเป็น “องค์กรชั้นนำระดับสากลในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ” ตามวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้นั้น ต้องมีการบูรณาการจากหลายภาคส่วนร่วมกันเป็นพันธมิตรในการพัฒนายางพาราทั้งระบบ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้นและคุณภาพชีวิตที่มั่นคง พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบกิจการยาง ในขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าเป็นบทบาทของประชาชนคนไทยทุกๆ คน ที่ต้องร่วมกันสนับสนุนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงได้จัดงาน "Thailand Rubber Expo" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการด้านยางพาราทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์จากยางพาราของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางไทย และผู้ประกอบกิจการ รวมทั้งแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำของไทยในฐานะผู้ผลิตยางคุณภาพและธุรกิจการส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก โดยใช้รูปแบบการบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงการยางพาราของไทยเพื่อให้สาธารณชนได้มีโอกาสได้รับความรู้ และเข้าใจประโยชน์ของยางพารามากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอด พัฒนานวัตกรรมการแปรรูปยางพาราต่อไป