การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศผลกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานไฟฟ้าภายใต้โครงการ “Digiwar นักประดิษฐ์ พิชิตโลกไฟฟ้า” ชิงรางวัลกว่า 1 แสนบาท ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร จากผลงานระบบควบคุมโรงเพาะเห็ดนางฟ้าอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตสำหรับสรรพสิ่งร่วมกับการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ และพลังงานแสงอาทิตย์
นางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ เปิดเผยว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาของ กฟผ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้เพียงพอต่อ การใช้งานของประชาชน โดยแสวงหานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทยมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้ศึกษาค้นคว้าพลังงานทดแทนที่หลากหลาย อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนจากใต้พิภพ อีกทั้งได้ศึกษาค้นคว้าพลังงานทดแทนจากต่างประเทศเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย
กฟผ. ได้เล็งเห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ จึงได้จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานไฟฟ้าภายใต้โครงการ “Digiwar นักประดิษฐ์ พิชิตโลกไฟฟ้า” เพื่อให้นิสิต นักศึกษา จากทั่วประเทศได้นำเสนอโครงการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่ออนาคต โดยมีนิสิต นักศึกษา ให้ความสนใจส่งผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานไฟฟ้า เข้ามากว่า 30 ทีม แต่ละผลงานนั้นมีความน่าสนใจแปลกใหม่ และสะท้อนแนวคิดมุมมองด้านพลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังงานของประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับผลการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานไฟฟ้าภายใต้ โครงการ “Digiwar นักประดิษฐ์ พิชิตโลกไฟฟ้า” มี 4 รางวัล ดังนี้
· รางวัลชนะเลิศ คือ ผลงาน ระบบควบคุมโรงเพาะเห็ดนางฟ้าอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตสำหรับสรรพสิ่งร่วมกับการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
· รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ผลงาน ตัวเก็บประจุยิ่งยวดนาโนเซลลูโลสจากข้าวโพดผสมนาโนคาร์บอนทิวบ์ที่ได้จากสลัดจ์และน้ำมันหมูเหลือทิ้ง โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ได้รับเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
· รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ผลงาน ระบบจัดการพลังงานโดยใช้อินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล จำนวน 15,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
· รางวัลชมเชย คือ ผลงาน ชุดคิทวิลแชร์ไฟฟ้า โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับเงินรางวัล จำนวน 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
“กฟผ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมการประกวดนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานไฟฟ้า ภายใต้โครงการ Digiwar นักประดิษฐ์ พิชิตโลกไฟฟ้า จะทำให้เยาวชนและสังคมตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศทุก ๆ ด้าน รวมทั้งให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ กฟผ. ในการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป” นางสาวรัชดาพร กล่าวในที่สุด