นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หมอกควัน PM 2.5 เป็นมลพิษทางอากาศชนิดหนึ่ง ที่เป็นอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากการประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ผ่านมา พบว่าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงชุมชนเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ประสบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพประชาชน จึงได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบกับสุขภาพในระยะยาว ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เข้ามาใช้ควบคู่กับการรักษา ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนานวัตกรรมเครื่อง PM CLEANER ด้วยระบบ Active Plasma กำจัดฝุ่น pm 2.5 โดยจะนำไปติดตั้งภายในอาคารของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ทำให้ผู้ป่วยและประชาชนลดความเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นละอองในอากาศได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องอาชีวอนามัย วินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงานและโรคจากสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ จึงได้ต่อยอดการรักษาโรคที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 โดยจัดตั้ง “คลินิกมลพิษ” ที่เน้นการทำงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประเมินสถานการณ์มลภาวะ ประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจากมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มโครงการโรงพยาบาลต้นแบบ ปลอดภัยจากฝุ่น pm 2.5 ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาล การนำขยะมารีไซเคิลเพื่อลดมลพิษจากการเผาไหม้ขยะ ทั้งนี้ ได้ริเริ่มโครงการใช้นวัตกรรมเครื่อง PM cleaner ด้วยระบบ Active plasma กำจัดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นการพัฒนาจากความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยนำเครื่องดังกล่าวติดตั้งที่บริเวณโรงพยาบาลเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีต่อผู้ป่วยและประชาชนที่สัญจรบริเวณโรงพยาบาล รวมทั้งตั้งเป้าจะขยายผลให้เป็นที่ศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจต่อไป
ศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ของประเทศและมีความร่วมมือในด้านต่าง ๆกับกรมการแพทย์มาอย่างต่อเนื่องประกอบกับพบปัญหาของฝุ่น pm 2.5 จึงได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือในการจัดการปัญหาฝุ่น pm 2.5 ขึ้นมา โดยมีหลักการทำงานประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) การใส่ประจุไฟฟ้าให้กับอานุภาค 2) การเก็บอานุภาคที่มีประจุโดยใช้แรงไฟฟ้าสถิตจากสนามไฟฟ้า 3)การแยกอานุภาคออกจากขั้วเก็บไปยังถังเก็บพักซึ่งหลักการทำงานดังกล่าวจะช่วยดักจับฝุ่นละอองที่มีอานุภาคน้อยกว่า 0.1 ไมครอนได้ เป็นการดักจับฝุ่น pm 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คุณภาพอากาศบริสุทธ์ขึ้นโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต
เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ พร้อมด้วยนายแพทย์อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม อาจารย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องแยกฝุ่นกำจัด PM 2.5 ที่มีทั่วไปมีราคาค่อนข้างสูง สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาระบบกำจัด PM 2.5 ด้วยระบบ Active Plasma ซึ่งมีระบบการแยกฝุ่น PM 2.5 โดยใช้หลักการม่านประจุไฟฟ้าเพื่อดักจับแทน เนื่องจากสารประกอบใน PM 2.5 มีลักษณะเป็นประจุบวก ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นละอองในอากาศตั้งแต่ 97-99 เปอร์เซ็นต์ แล้ว ยังสามารถบำรุงรักษาระบบได้ง่ายและไม่ก่อให้เกิดขยะจากไส้กรองที่เสื่อมสภาพอีกด้วย