สตง.ตรวจงบการเงินเทศบาลต.พระพุทธบาทเชียงคาน อ.เชียงกลาง จังหวัดน่าน พบเงินขาดบัญชี 2.74 ล้าน ชี้สาเหตุเบิกจ่ายโดยมิชอบนำเงินสะสมทุนสำรองมาใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่น-ผู้ว่าฯ จี้หาตัวผู้ชดใช้ค่าเสียหาย ด้านหน่วยงานตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงแล้ว - รวมยอด 9 อปท. เดิม ทะลุ 241.48 ล้าน
เทศบาลตำบลพระพุทธบาทเชียงคาน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกแห่งหนึ่ง ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการใช้จ่ายเงินผิดระเบียบ พร้อมแจ้งให้มีการเรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 2.74 ล้านบาท
โดย สตง.ตรวจสอบงบการเงินเทศบาลตำบลพระพุทธบาทเชียงคาน ณ สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2560 พบว่า มีเงินขาดบัญชีจำนวน 2.74 ล้านบาท เนื่องจากเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายสูงกว่ารายรับ มีการเบิกจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนกรณีพิเศษประจำปีงบประมาณ 2556 -2557 และเขียนเช็คสั่งจ่ายสูงกว่าจำนวนที่ต้องจ่าย ซึ่งจากการวิเคราะห์บัญชีเงินฝากธนาคาร และบัญชีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามยอดคงเหลือที่แสดงในงบการเงิน เทศบาลฯ จะต้องมียอดเงินฝากธนาคารคงเหลือในบัญชีจำนวน 6.76 ล้านบาท แต่งบแสดงฐานะการเงิน แสดงยอดคงเหลือบัญชีเงินฝากธนาคารเพียง 4.02 ล้านบาท บัญชีเงินฝากธนาคารต่ำกว่าหนี้สินและภาระผูกผัน จำนวน 2.74 ล้านบาท
สตง.ระบุว่า สาเหตุปัญหาเกิดจากมีการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ชอบ นำเงินสะสมและเงินทุนสำรองสะสมมาใช้จ่ายโดยไม่ได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัด คณะผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่งบประมาณไม่ได้ควบคุมงบประมาณรายจ่ายและเงินนอกงบประมาณ ไม่ได้ควบคุมการรับและการจ่ายเงิน ควบคุมบัญชีรายงานและเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการรับจ่ายเงินและหนี้ และไม่ได้ตรวจสอบการรับจ่ายเงิน การขอเบิกเงินและการก่อหนี้ผูกพัน
สตง. จึงเห็นว่า เทศบาลตำบลพระพุทธบาทเชียงคาน ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ข้อ 87 วรรคสอง และข้อ 89 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ข้อ 33 พร้อมขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 2.74 ล้านบาทด้วย
เบื้องต้น เทศบาลตำบลพระพุทธบาทเชียงคาน ได้ชี้แจง สตง.ว่า กรณีจ่ายขาดเงินสะสมล่วงล้ำเงินทุนสำรองเงินสะสมทำให้มียอดเงินคงเหลือแต่ไม่มีตัวเงินดังกล่าว ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า อบจ.ขอนแก่น มี 5 กรณี ที่ถูกตรวจสอบพบปัญหา และถูกเรียกเงินคืน คือ โครงการจัดซื้อเครื่องเล่นส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ประจำปี 2557 ที่ใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท เบิกจ่ายเงินไปแล้ว 37.63 ล้านบาท , โครงการจัดซื้อชุดตรวจหาสารเสพติด เพื่อมอบให้กับศูนย์อำนวยการพลังเอาชนะยาเสพติดจังหวัดขอนแก่น ตำรวจภูธรภาค 4 และโรงเรียนซำสูงพิทยาคม วงเงินกว่า 12.95 ล้านบาท , การเบิกจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ หรือ โบนัส ปี 2557 วงเงิน 59.99 ล้านบาท กรณีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้สมาคมกีฬาแห่งหนึ่ง วงเงิน 17.39 ล้านบาท และการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับอนุมัติให้กันเงินที่เหลือจ่ายก่อนจะมีการนำไปทำโครงการจัดซื้อหนังสือเพื่อพัฒนาคุณภาพห้องสมุดโรงเรียนและครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ 19.70 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 147.66 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ยอดทะลุ147ล.! เปิดครบ 5 กรณี อบจ.ขอนแก่น เบิกจ่ายผิดระเบียบ-เรียกเงินคืน ใครรับผิดชอบ?)
เทศบาลเมืองมุกดาหาร มี 1 กรณี คือ การเบิกจ่ายเงินตามโครงการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมในเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สูงอายุ (เงินขวัญถุง) ตั้งแต่ปี 2549-2559 เป็นเงินทั้งสิ้น 17.63 ล้านบาท เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ งานประเพณีสงกรานต์เทศบาลเมืองมุกดาหาร ซึ่งจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี (อ่านประกอบ : ชี้พฤติการณ์หาเสียง! สตง.สั่งเทศบาลมุกดาหารคืนเงิน10 ปี17.6 ล. แจกขวัญถุงผู้สูงอายุ)
อบจ.ร้อยเอ็ด 1 กรณี คือ การจัดอบรมให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ศึกษาในโรงเรียนสังกัด อบจ.ร้อยเอ็ด เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการในการเตรียมตัวเพื่อเข้าสอบ O-NET จำนวน 8,440 ราย และเบิกค่าใช้จ่ายตามโครงการ รวมเป็นเงิน 2.89 ล้านบาท (อ่านประกอบ :ถึงคิว อบจ.ร้อยเอ็ด! สตง.สั่งเรียกเงินคืน 2.89 ล. จัดติวเด็ก ม.6 สอบ O-NET)
อบจ.กาฬสินธุ์ 1 กรณี คือ การเบิกจ่ายเงินในงวดปีงบประมาณ 2559 เป็นเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการอื่น เพื่อใช้เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง จำนวน 9 แสนบาท ค่าตอบแทน จำนวน 174 ล้านบาท ค่าชุดกีฬา จำนวน 2.1 แสนบาท รวมเป็นเงิน 2.85 ล้านบาท (อ่านประกอบ : อบจ.กาฬสินธุ์ โดนด้วย! สตง.เรียกเงินคืน 2.85 ล.อุดหนุน'ค่าเบี้ยเลี้ยง-ชุดกีฬา' ผิดระเบียบ)
อบจ.มหาสารคาม 4 กรณี คือ การเบิกจ่ายเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเอกชนให้กับสมาคมกีฬาแห่งหนึ่ง ประจำปี 2559-2560 เพื่อสนับสนุนนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬาแห่งชาติ รายการต่าง ๆ โดยนำไปใช้จ่ายเป็น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน ค่าที่พัก ค่าชุดกีฬา ค่าพาหนะ ฯลฯ สำหรับนักกีฬา กรรมการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ จำนวน 7 ฎีกา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2.74 ล้านบาท , เบิกจ่ายเงินตามโครงการร่วมการแข่งขันกีฬา อบจ. สัมพันธ์ สร้างสรรค์ท้องถิ่นไทย ครั้งที่ 10 ประจำปี 2559 ในระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม 2559 ณ สนามกีฬากลาง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงานสังกัดอบจ.มหาสารคามมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง และเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่าง อบจ.มหาสารคามและ อบจ.ภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเพื่อพัฒนาทักษะทางการกีฬาของผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงานสังกัด อบจ.มหาสารคาม จำนวน 2 ฎีกา รวมเป็นเงิน 1.2 แสนบาท ,เบิกจ่ายเงินหมวดรายจ่ายงบกลางประเภทเงินสมทบกองทุกประกันสังคมในส่วนของนายจ้างสมทบ 5% ให้กับบุคคลจากค่าจ้างเหมาะบริการที่จ่ายจากหมวดรายจ่ายประเภท ค่าใช้สสอย ประจำปีงบประมาณ 2559 จำนวน 12 ฎีกา เป็นจำนวนเงิน 6.5 แสนบาท เบิกจ่ายเงินตามโครงการส่งเสริมการจัดงานบุกเบิกฟ้า ประจำปี 2559 งานราตรสีร้อยดอกหมาก จำนวน 11 ฎีกา รวมเป็นเงินสด 1.19 ล้านบาท (อ่านประกอบ : อบจ.มหาสารคาม แห่งที่ 5! สตง.เรียกเงินคืน4กรณี4.7ล. อุดหนุน 'แข่งกีฬา-งานบุญเบิกฟ้า')
อบต.บางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร คือ กรณีการเบิกจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (โบนัส) ประจำปีงบประมาณ 2555 -2557 มิชอบด้วยระเบียบ พร้อมสั่งให้มีการเรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนกว่า 9.99 ล้านบาท (อ่านประกอบ : แห่งที่ 6 อบต.บางน้ำจืด สมุทรสาคร! สตง.เรียกเงินคืน9.9ล้าน จ่ายโบนัสปี 55-57 มิชอบ)
อบจ. ประจวบคีรีขันธ์ 2 กรณี คือ เบิกจ่ายเงินงบประมาณหมวดค่าตอบแทน เพื่อจ่ายเป็นเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (โบนัส) จำนวน 19.99 ล้านบาท ให้กับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ประจำปีงบประมาณ 2556 ตามฎีกาเลขที่คลังรับ 1828/2557 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 จำนวนเงิน 10 ล้านบาท และประจำปี 2557 ตามฎีกาเลขที่คลังรับ 1/2558 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2557 จำนวนเงิน 9.99 ล้านบาท และการตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ และองค์กรประชาชน ซึ่งไม่เป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ จำนวน 23 โครงการ เป็นเงิน 9.08 ล้านบาท (อ่านประกอบ : อบจ.ประจวบฯ รายล่าสุด! สตง.สั่งเรียกเงินคืน 29.07 ล. จ่ายโบนัส-ตั้งงบผิดระเบียบ)
เทศบาลตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี คือ กรณี อนุมัติให้ใช้จ่ายเงินสะสมเป็นค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวน 37 โครงการเป็นเงิน 12.93 ล้านบาท เบิกจ่ายเงินแล้ว 30 โครงการ เป็นเงิน 10.53 ล้านบาท และก่อหนี้ผูกพันแล้ว ยังไม่ได้เบิกจ่ายเงิน จำนวน 7 โครงการ เป็นเงิน 1.92 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เทศบาลบางแพราชบุรี ก็โดน! สตง.เรียกคืน 12.93 ล. จ่ายเงินสะสม 37 โครงการ ผิดระเบียบ)
อบต. ขุนศรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี คือ เบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อจ่ายเป็นเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณ๊พิเศษ (โบนัส) ให้กับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548–2556 จำนวนเงิน 9.07 ล้านบาท และประจำปีงบประมาณ 2557 จำนวนเงิน 2.43 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11.50 ล้านบาท (อ่านประกอบ :อบต.ขุนศรี นนทบุรี มีชื่อด้วย! สตง.เรียกเงินคืน 11.50 ล. จ่ายโบนัส ปี 48-57 มิชอบ)
หากนับรวมกรณี เทศบาลตำบลพระพุทธบาทเชียงคาน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ล่าสุด อีก 2.74 ล้านบาท ยอดวงเงินที่ถูกสตง.เรียกคืนในขณะนี้ จะอยู่ที่ตัวเลข 241.48 ล้านบาท
Cr.https://www.isranews.org/isranews/83326-news01-83326.html