นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาซื้อขายกุ้งขาวแวนนาไมที่ปรับตัวลดลง ตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค.-ก.ย.62 พบว่า กุ้งขนาด 70 ตัว/กิโลกรัม ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 139 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 6% เนื่องจากไทยส่งออกกุ้งลดลง โดยมีปริมาณส่งออก 126,658 ตัน (ลดลง 5%) คิดเป็นมูลค่า 37,531 ล้านบาท (ลดลง 10%) เนื่องจากราคากุ้งไทยมีราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง จึงส่งผลการส่งออกกุ้งไทยไปตลาดโลกลดลง
ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ความสามารถในการแข่งขันของไทยจึงลดลงไปด้วย นอกจากนี้ ทางผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปขาดสภาพคล่อง รวมทั้งเลิกกิจการไปบางส่วน ดังนั้น ความต้องการกุ้งเพื่อส่งออกจึงน้อยลง และกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับความเดือดร้อนจากราคากุ้งที่ตกต่ำตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 เป็นต้นมา
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดย สศก.และกรมประมง ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งขาวแวนนาไมร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้วยการนำผลผลิตส่วนเกินกุ้งออกจากตลาด จำนวน 40,000 ตัน และกำหนดราคาเป้าหมายที่เกษตรกรขายได้ให้กุ้งขนาด 70 ตัว/กิโลกรัม อยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท
ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก.กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยแก้ไขปัญหาราคากุ้งนั้น กรมการค้าภายในได้เตรียมดำเนินการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่รับซื้อกุ้งเพิ่ม จำนวน 30,000 ตัน วงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท โดยชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ระยะเวลา 6 เดือน วงเงิน 75 ล้านบาท และการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่รับซื้อกุ้งเพื่อเก็บในสต็อกระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 10,000 ตัน วงเงินกู้ 1,500 ล้านบาท โดยชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ระยะเวลา 6 เดือน วงเงิน 22.50 ล้านบาท และชดเชยค่าเก็บกิโลกรัมละ 1 บาท เป็นเงิน 10 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 32.50 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดทำโครงการและมาตรการดังกล่าว
นอกจากนี้ เตรียมขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และไต้หวันให้มากขึ้น โดยให้กรมการค้าต่างประเทศจัดทีมเจรจาระหว่างผู้ประกอบการส่งออกไทยกับผู้ประกอบการนำเข้ารายใหม่ๆ พร้อมกับส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ โดยให้กรมการค้าภายในจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภค เช่น นำกุ้งจากฟาร์มเกษตรกรจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น การขายออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปีที่เป็นช่วงเทศกาลที่ผู้บริโภคภายในประเทศจะซื้อกุ้งในราคาถูกลงกว่าท้องตลาดทั่วไป ซึ่งเชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าว จะสามารถช่วยยกระดับราคากุ้งให้สูงขึ้นได้อย่างแน่นอน