นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ปัญหา PM 2.5 ว่า กระทรวงพลังงานได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นความตั้งใจของกระทรวงพลังงานที่จะระดมสมองในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา PM 2.5 เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมบูรณาการในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับประเทศ
ทั้งนี้ มาตรการที่กระทรวงพลังงานได้นำมาขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 นั้น แบ่งเป็น 3 ระยะ ภายใต้ 4 มาตรการ ได้แก่ ระยะสั้น ช่วงปี 2562-2563 คือ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 เพื่อลดการปล่อย PM 2.5 จากการปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ระยะกลาง ช่วงปี 2563-2565 คือ การสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อลดการเผาทิ้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และระยะยาว ช่วงปี 2565-2567 คือ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV
สำหรับผลที่จะได้รับจากมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ในช่วงระยะแรก คือ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 นั้น ในส่วนของ B10 จะสามารถลด PM 2.5 ได้ 3.5-13% สำหรับ B20 จะสามารถลดได้ 21-23% ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันดีเซล B10 มีจำนวน 411 สถานี และสถานีบริการน้ำมันดีเซล B20 มีจำนวน 2,743 สถานี