กระทรวงพลังงานภายใต้การนำของ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สรุปผลงานด้านพลังงานที่เป็นรูปธรรมในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมวางทิศทางพลังงานในปี 2563 คาดผุดโรงไฟฟ้าชุมชนได้ภายในครึ่งปีแรก ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรม ส่งเสริมการใช้ B10 ทั่วประเทศ พร้อมเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และการเป็นฮับ LNG เตรียมซื้อขายได้จริงภายในไตรมาสที่ 3 ปีหน้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในช่วงที่ผ่านมาว่า ในช่วงที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงพลังงานนั้นได้ผลักดันผลงานให้บรรลุเป้าหมายไม่เพียงแต่ด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังมองว่าต้องบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานทั่วถึง มั่นคง สร้างรายได้ให้ประเทศ การสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดภาระค่าครองชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกบทบาทไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมพลังงานสะอาดและลดมลพิษจากการใช้พลังงาน
“เป้าหมายหนึ่งที่เป็นหัวใจในการทำงานของผมและได้ย้ำมาโดยตลอดคือ การสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เพราะเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพถ้าเราเข้าไปปลดล็อคหรือส่งเสริมให้ตรงจุด และที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เศรษฐกิจของประทศ แม้ว่าจะมีความผันผวนจากภายนอกเกิดขึ้นก็ตาม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
สำหรับผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมาที่เป็นรูปธรรมได้แก่
-การส่งเสริมให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐาน ซึ่งช่วยสร้างสมดุลของดีมานด์และซัพพลายของปาล์มน้ำมันให้เกิดขึ้นในระยะยาว โดยช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่า ปาล์มน้ำมันถูกยกระดับราคาอยู่ที่กิโลกรัมละเกือบ 6 บาทแล้ว
-โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป้าหมายเพื่อประชาชนในท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ โดยมีกลไกของเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือหนึ่งมาร่วมพัฒนาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม “อาจมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนนั้น ขอเน้นย้ำว่ากลไกคัดเลือกต่างๆ ได้มอบนโยบายไว้แล้วว่า ต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ไม่เกิดข้อครหาแต่อย่างใด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
-การช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของประชาชน จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทยสูงถึงประมาณ 2,280 บาทต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ช่วยลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ทั้งการตรึงราคาก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัมไว้ที่ 363 บาทต่อถัง ช่วยตรึงค่า Ft ช่วง 4 เดือนแรกของปีหน้า และการลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซลลิตรละ 1 บาทเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 62 - 10 ม.ค.63 เพื่อเป็นการส่งเสริมการเดินทางช่วงปีใหม่ ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงพลังงานมอบให้ประชาชน
-การสร้างบทบาทนำด้านพลังงานในเวทีนานาชาติ โดยปี 2562 ที่ผ่านมาไทยเป็นประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพหลักในการประชุมขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยไทยมีภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางอาเซียนสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงระบบฟ้าจากตะวันตกไปตะวันออก จากเหนือไปใต้เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจ โดยการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่ผ่านมาเพิ่มกรอบการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านไทยไปยังมาเลเซียขึ้นอีกเป็น 300 เมกะวัตต์
-การสร้างรายได้เข้าสู่ภาครัฐ โดยปีงบประมาณ 2562 จัดเก็บรายได้จากกิจการปิโตรเลียมเข้าสู่ภาครัฐจำนวน 166,332 ล้านบาท ค่าภาคหลวง 45,555 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,151 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 12,688 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่จะมาถึง กระทรวงพลังงานได้วางทิศทางการดำเนินการด้านพลังงานไว้ 3 ด้านหลักๆ คือ ด้านเศรษฐกิจฐานราก/การช่วยค่าครองชีพประชาชน จะเร่งผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรก ขับเคลื่อนโครงการชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อาทิ สถานีพลังงานชุมชุน และที่เร่งด่วนคือ โครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสู้ภัยแล้ง การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซให้มีความเป็นธรรม การส่งเสริมการใช้ B10 ให้กว้างขวาง และบริหารน้ำมันปาล์มดิบในภาคพลังงานอย่างเป็นระบบ
ด้านความเข้มแข็งทางพลังงาน จะทบทวนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ให้พร้อมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ การผลักดันการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)และค่าไฟฟ้ารถ EV และรถไฟฟ้าสาธารณะ
ด้านบทบาทนำในภูมิภาค โดยกำหนดกรอบเพื่อการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลาง LNG ซึ่งคาดว่าจะสามารถเกิดการซื้อขายได้จริงภายในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า