นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ณ คลองเทา บ้านหนองแหน ซึ่งได้มีการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูและพัฒนาคูคลอง โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชุมชน
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้มีมาตรการรับภัยแล้งปี 2562/63 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ได้แก่ 1) ด้านน้ำต้นทุน โดยมีการจัดทำแผนสำรองน้ำ/แหล่งน้ำสำรอง/ขุดเจาะบ่อบาดาล ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การกำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งให้ชัดเจนและแจ้งให้รับทราบแผน และจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำ เพื่อตรวจสอบข้อมูลการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 2) ด้านความต้องการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศ และเพื่อการเกษตร 3) การติดตามประเมินผล และ 4) การเตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ของหน่วยงานและให้ประชาชนทราบ
นอกจากนี้ ยังมีการจ้างแรงงานเกษตรกรช่วงเว้นทำนาปรัง (ระยะเวลาจ้าง 4 - 5 เดือน) รวม 5 จังหวัด คือ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด จำนวนแรงงานเกษตรกรที่จ้างได้ไม่น้อยกว่า 4,340 คน งบประมาณค่าแรงทั้งหมด 689,814,390 บาทอย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้มีมาตรการเตรียมความพร้อมและแนวทางช่วยเหลือในช่วงภัยแล้งของจังหวัดชัยภูมิ โดยติดตาม วิเคราะห์ แนวโน้มสถานการณ์และสั่งการโดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) และเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ นอกจากนี้ ยังเตรียมเครื่องจักรเพื่อให้ความช่วยเหลือด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจความเสียหายด้านการเกษตรของจังหวัดชัยภูมิ สำรวจพบความเสียหายด้านพืชแล้ว 15 อำเภอ เกษตรกร 97,223 ราย พื้นที่รวม 927,098 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 778,063 ไร่ พืชไร่ 147,856 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,176 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 1,037.31 ล้านบาท ซึ่งได้โอนเงินให้กับสำนักงานเกษตรจังหวัด เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 62 เกษตรกร 86,115 ราย พื้นที่รวม 837,824.25 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 689,575.5 ไร่ พืชไร่ 147,072.75 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,176 ไร่คิดเป็นวงเงิน 938,324,488.50 บาท และอยู่ระหว่างจังหวัดพิจารณาขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองชัยภูมิ แก้งคร้อ ภูเขียว และบ้านแท่น เกษตรกร 11,108 ราย พื้นที่ 89,270.75 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 99,385,758.50 บาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง อาทิ การเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมตามแผนที่ Agri-map และการสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เป็นต้นด้ว
จากนั้นได้ติดตามนายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมและรับฟังการรายงานการใช้นวัตกรรมบริหารจัดการการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ (Modern Farm) และชมการสาธิตการตัดอ้อย สางใบอ้อย และเก็บใบอ้อย ด้วยวิธีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ (Modern Farm) เพื่อลดการเผาอ้อยและลดค่า PM 2.5 ไร่กุดจอก (ไร่อ้อย) และพบปะพูดคุยกับประชาชน ต.โคกสะอาด อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ อีกทั้งได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านภูดิน (มิตรผลอุปถัมภ์) ความร่วมมือในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ณ ต.โคกสะอาด อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ โดยเยี่ยมชมการเรียนการสอนลักษณะการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Active Learning) เยี่ยมชมนิทรรศการพัฒนาทักษะอาชีพ ได้แก่ การทำน้ำอ้อยคั้นสด การจับจีบผ้า และการทำมาลัยมะกรูดใบเตย เยี่ยมชมการสาธิตการบังคับหุ่นยนต์ (Robotics) โดยเด็กพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะการเขียนโปรแกรม (Coding) และเยี่ยมชมแปลงเพาะชำอ้อยของโรงเรียนบ้านภูดิน (มิตรผลอุปถัมภ์)