นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council : ITRC) ครั้งที่ 33 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยกล่าวว่า ประเทศสมาชิกสภาไตรภาคีฯ ทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้บรรลุเป้าหมายในประเด็นการลดปริมาณผลผลิตยางพารา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ยางพาราในระยะ 20 ปีของไทย รวมทั้งประเทศสมาชิกสามารถบรรลุเป้าหมายของมาตรการการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในแต่ละประเทศ โดยแต่ละประเทศมีสัดส่วนการใช้ยางต่อปริมาณผลผลิตในประเทศ ดังนี้ คือ
ประเทศมาเลเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 78.36 (ข้อมูลระหว่าง ม.ค.- ก.ย. 62) ประเทศอินโดนีเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 19.37 (ข้อมูลระหว่าง ม.ค. - พ.ย. 62) และประเทศไทย มีสัดส่วนร้อยละ 18.93 (ข้อมูลระหว่าง ม.ค.-ต.ค. 62) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวของการใช้ยางในประเทศ ประเทศไทยมีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 18.53 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการ เช่น การทำถนนที่มียางพาราเป็นส่วนผสมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น
ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.55 และประเทศมาเลเซียมีอัตราการใช้ลดลงร้อยละ 2.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยทั้ง 3 ประเทศ เห็นด้วยกับมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ รวมถึงมาตรการส่งเสริม/สนับสนุนแหล่งเงินทุนอย่างต่อเนื่องแก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพารา
โอกาสนี้ ผู้แทน สศก.ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับการระบาดของโรคใบร่วงยาง (Pestalotiopsis disease) เพื่อขอความเห็นให้ประเทศสมาชิกร่วมมือหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ผลผลิตของประเทศสมาชิกที่เป็นแหล่งผลิตหลักของโลก โดยอินโดนีเซียได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวน 2.38 ล้านไร่ ไทยได้รับผลกระทบกว่า 300,000 ไร่ และมาเลเซียกว่า 30,000 ไร่ คาดว่าผลกระทบจากโรคดังกล่าวในกรณีรุนแรงที่สุดทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 70 – 90 และในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบปานกลางทำให้ผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 30 – 50
โดยในปี 2562 ประเทศสมาชิก ITRC ได้คาดการณ์ผลผลิตยางพาราลดลงถึง 800,000 ตัน จากการระบาดของโรคใบยางร่วงดังกล่าว รวมถึงปัจจัยสภาพอากาศ เศรษฐกิจโลก และมาตรการทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเอมริกา ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อราคายางในตลาดโลก
เลขาธิการ สศก.กล่าวต่อไปว่า มติที่ประชุม ITRC จึงได้มอบหมายให้ บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (International Rubber Consortium, Ltd: IRCo) ในฐานะฝ่ายเลขาของ ITRC เผยแพร่ข่าวให้ทั่วโลกรับรู้ถึงผลกระทบ ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของผลผลิตยางพารา และคาดว่าจะมีผลต่อราคายางในตลาดโลก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญในประเด็นความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อจะได้ดำเนินมาตรการให้เกิดความยั่งยืนในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของการเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบร่วงยาง ทั้ง 3 ประเทศ ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวัง ควบคุม กำจัดอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศมาเลเซียจัดทีมเฉพาะกิจ (task force team) เข้าควบคุม ฉีดพ่นสารควบคุมในพื้นที่ของเกษตรกรที่ได้รับการระบาดของโรค ในขณะที่ประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯ โดยสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย และกรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่ข้อมูล ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการระบาด ย้ำเตือนอาการของโรคที่มีลักษณะ
1. ใต้ใบมีรอยช้ำค่อนข้างกลม ผิวใบด้านบนบริเวณเดียวกันสีเหลืองกลม 2. เนื้อเยื่อสีเหลืองใหญ่ขึ้นเป็นขอบแผลดำเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อแห้งสีน้ำตาลจนถึงขาวซีด 3. จำนวนจุดแผลบนใบมีมากกว่า 1 แผล อาจลุกลามซ้อนกันจนเป็นแผลขนาดใหญ่ และ 4. ใบเหลืองและร่วงในที่สุด รวมทั้ง ได้ประชาสัมพันธ์แนวทางในการป้องกัน โดยให้ใส่ปุ๋ยบำรุงสม่ำเสมอ
หากพบอาการของโรคดังกล่าวให้รีบใช้สารป้องกันฉีดพ่นพุ่มใบให้ทั่วแปลง โดยเครื่องฉีดพ่นสารเคมีแรงดันสูงอย่างน้อย 2 ครั้ง ฉีดพ่นซ้ำ 7-15 วัน โดย สศก.จะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อเตือนภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งหากเกษตรกรพบข้อสงสัยว่าจะมีการระบาดของโรคในพื้นที่ หรือต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดการระบาดและคำแนะนำสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยใกล้บ้าน