ประภัตร”เดินสายชี้แจงโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์ ดันเกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพทางเลือกสร้างรายได้ ลดพื้นที่ทำนาปรัง มั่นใจมีตลาดรองรับ
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมปศุสัตว์กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว เจ้าหน้าที่กรมประมง และ ธ.ก.ส. เข้าร่วมชี้แจง ณ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุพรรณบุรี ต.ไผ่ขวาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี และวิทยาลัยการอาชีพอู่ทอง ต.หนองโอ่ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ว่า การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมประมง และ ธ.ก.ส. เข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดโครงการดังกล่าวให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ได้แก่ อ.เมืองสุพรรณบุรี อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง และ อ.อู่ทอง รวมประมาณ 2,000 คนที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้รับฟังและตอบข้อสงสัย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามที่โครงการกำหนด และเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้เข้าร่วมโครงการ ถือปฏิบัติร่วมกัน
นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ที่เกิดขึ้นซ้ำซากในหลายพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ทำให้เกษตรกรประสบปัญหามีรายได้ไม่เพียงพอ พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ตลอดจนเรื่องน้ำนั้นเป็นปัญหาที่มีมาต่อเนื่องมาหลายปี อีกทั้งในปีนี้น้ำมีไม่เพียง กระทรวงเกษตรฯ จึงสนับสนุนให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง หันมาปลูกพืชที่หลากหลาย ตลอดจนเพิ่มทางเลือกให้ชาวนา โดยจัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ และเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะแกะ และไก่พื้นเมือง การทำประมง เช่น ปลาสลิด กุ้ง และการปลูกพืช เช่น เมล่อน มะเขือเทศ ผัดสลัด พริก ปลูกหญ้าเนเปียร์ ปลูกข้าวโพด หญ้าแพงโกล่าเป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มภายใน 4 เดือนต่อจากนี้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังเร่งสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร โดยเริ่มให้มีการรวมกลุ่ม 7-10 คน จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจให้แล้วเสร็จ คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์จะสามารถตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน แล้วดำเนินการสนันสนุนสินเชื่อได้ทันที โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 100 บาท/ปี (หรือร้อยละ 0.01) กลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท และมีประกันหากสัตว์เสียชีวิตอีกด้วย