สภาฯ มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 หลังพิจารณานาน 4 วัน 3 คืน ขณะที่นายกรัฐมนตรี ขอบคุณสมาชิก ยืนยันจะใช้งบฯ อย่างโปร่งใส คุ้มค่า พร้อมนำข้อเสนอ ส.ส.ทุกคนไปปรับปรุงแก้ไข
ทั้งนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 และ 3 ใช้เวลาการพิจารณาทั้งสิ้น 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-11 มกราคม 2563 โดย พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว มีทั้งสิ้น 55 มาตรา ปรับลดทั้งสิ้น 16,231 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดสรรให้กับส่วนราชการและองค์กรอิสระแทน ส่วนที่ประเด็นที่มีการอภิปรายมากที่สุด คือ งบประมาณในสัดส่วนรายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม ที่กรรมาธิการปรับลดมากที่สุดกว่า 1,518 ล้านบาท
โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2563 มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท วาระ 3 ด้วยคะแนน 253 เสียง งดออกเสียง 196 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าร่วมรับฟังการประชุมสภาฯ พร้อมกล่าวขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และระบุว่า ร่างงบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน การใช้จ่ายงบประมาณบรรลุตามเป้าหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ ทั่วถึงประชาชน พร้อมน้อมรับข้อเสนอแนะของสมาชิก เพื่อส่งให้หน่วยงานต่างๆ ประกอบการพิจารณา ขอให้มั่นใจว่า งบประมาณจะใช้ตามวัตถุประสงค์ โดยรัฐบาลจะกำกับดูแลให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ
ต่อมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่รับผิดชอบหน้าที่ต่อบ้านเมือง และขอให้สมาชิกทุกคนได้ใช้วันหยุดชดเชยที่อดหลับอดนอน ก่อนจะสั่งปิดการประชุมในเวลา 17.41 น.
โดยนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จสิ้นว่า ขอบคุณทุกคน เมื่อถามว่า โล่งใจหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็สบายใจอยู่แล้ว เพราะทุกคนช่วยกันอยู่แล้ว นี่ก็คือปัญหา ถ้างบประมาณออกไม่ได้ ก็ทำงานลำบาก จะได้ดูแลประชาชนได้เต็มที่ ต่อไปนี้รัฐบาลจะดูแลอย่างเต็มที่ ทุกคนก็ร่วมมือกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในจันทร์ที่ 13 มกราคมนี้ โดยวุฒิสภามีกรอบเวลาการพิจารณา 20 วัน แต่ไม่สามารถแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ จากนั้นส่งไปยังคณะรัฐมนตรี ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้ต่อไป