ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
ก.ทรัพย์ บริหารจัดการถ้ำทั่วประเทศ
29 ม.ค. 2563

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563  ณ อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมี เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ  ว่าที่ ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานในจังหวัดเชียงรายที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการการประชุมในครั้งนี้ด้วย

     นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถ้ำในประเทศไทย มีมากกว่า 5,000 ถ้ำ สามารถระบุตำแหน่งได้ประมาณ 2,600 แห่ง ถ้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเพื่อการท่องเที่ยว ผจญภัย ศึกษาวิจัย แต่มีความเปราะบางของระบบนิเวศ ถ้ำอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาคส่วนต่าง ๆ อีกทั้ง ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการบริหารจัดการถ้ำ และไม่มีองค์กรใดรับผิดชอบในการบริหารจัดการถ้ำในภาพรวม

     นอกจากนี้ ถ้ำและสิ่งมีชีวิตที่สำคัญของโลกภายในถ้ำยังได้รับการคุกคามทั้งโดยภัยทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ และประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานในการบริหารจัดการถ้ำอย่างบูรณาการ ทำให้ถ้ำจำนวนมากได้รับความเสียหายเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรภายในถ้ำ อีกทั้ง การขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับถ้ำ ทำให้เกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวในถ้ำนับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ เพื่อกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ แนวทางการใช้ประโยชน์ และแนวทางในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของท้องถิ่น และบูรณาการการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวถ้ำโดยมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น    

            คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ กำหนดข้อปฏิบัติในการคุ้มครองถ้ำ 16 ข้อ เพื่อคุ้มครองถ้ำของประเทศก่อนที่ถูกทำลายโดยกระบวนการธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ประกอบด้วย 1) ห้ามสัมผัสหรือแตะต้องประติมากรรมถ้ำ เช่น  หินงอก หินย้อย เสาหิน รวมทั้ง หยดน้ำที่หยดจากหินย้อย 2) ห้ามตี เคาะ ทำลายหินในถ้ำ 3) ห้ามสูบบุหรี่ ก่อกองไฟ จุดธูปเทียน หรือกิจกรรมใดๆที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศภายในถ้ำ 4) ห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทานในถ้ำรวมทั้งทิ้งเศษขยะมูลฝอยใดๆ 5) ห้ามส่งเสียงดังหรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการรบกวนหรือก่อความรำคาญให้แก่สัตว์ รวมทั้งห้ามยิงปืน จุดประทัดและ วัตถุระเบิด 6) ห้ามนำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไปในถ้ำ 7) ห้ามขีดเขียน ขูดลบ ขีดฆ่า ทาหรือ พ่นสี หรือปิดประกาศ 8) ห้ามถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในถ้ำ 9) ห้ามเก็บหรือนำสิ่งใด ๆ ออกจากถ้ำ อาทิ หิน ผลึกแร่ ซากดึกดำบรรพ์ โบราณวัตถุ และหรือสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ 10) ห้ามกระทำการใดๆ อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางน้ำหรือสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่จะทำให้น้ำท่วมล้น หรือเหือดแห้ง เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ 11) ห้ามตั้งแคมป์พักแรมภายในถ้ำ 12) ห้ามเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด 13) ไม่แตะต้องและ/หรือทำลายระบบไฟฟ้าในถ้ำ 14) ไม่รบกวนแหล่งโบราณคดี หรือ ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำ 15) ไม่ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สะพาน ทางเดิน บันได เว้นแต่การก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวก/ความปลอดภัยเท่าที่จำเป็น และให้มีความกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ  ในถ้ำ 16) ให้มีผู้นำเที่ยวถ้ำท้องถิ่นที่ผ่านฝึกอบรมตามมาตรฐาน Local Cave Guide และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

     นอกจากนี้ คณะกรรมการได้เห็นชอบให้มีการสำรวจ ประเมิน และมีแผนบริหารจัดการถ้ำที่มีความสำคัญในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มีการกระจายตัวในทุกภูมิภาค รวมทั้งมีความอ่อนไหวในการถูกทำลายจำนวน 11 ถ้ำ ประกอบด้วย ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ถ้ำแก้วโกมล จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ถ้ำปาฏิหาริย์ จังหวัดอุบลราชธานี ถ้ำพญานาคราชจังหวัดขอนแก่น ถ้ำละว้า จังหวัดกาญจนบุรี ถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี ถ้ำธารน้ำลอด จังหวัดชุมพร ถ้ำภูผาเพชร จังหวัดสตูล ถ้ำเขาช้างหาย จังหวัดตรัง และถ้ำในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน

     ทั้งนี้ นโยบายและแผนแม่บทในการบริหารจัดการถ้ำของประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ.2563  ที่ประกอบด้วยร่างกรอบนโยบายการบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ มี 12 ข้อ และแผนแม่บทจะประกอบด้วยแผนแม่บท จำนวน 10 แผนงาน ที่ครอบคลุมการบริหารจัดการถ้ำในทุกมิติ

    โดยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ ได้กำหนดระยะของการดำเนินงาน (roadmap) กำหนดไว้เป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
         ระยะที่ 1 ระยะของการปฏิรูปการบริหารจัดการถ้ำ (เป้าหมายปี 2565) ปฏิรูประบบการสำรวจ วิจัย และพัฒนาข้อมูลถ้ำ กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ กฎระเบียบ ควบคู่ไปกับการสำรวจและกำหนดแนวทางบริหารจัดการถ้ำที่มีปัญหาหรือความสำคัญเร่งด่วน จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ถ้ำ
         ระยะที่ 2 ระยะของการสร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการถ้ำ (เป้าหมายปี 2570) สร้างฐานข้อมูลและองค์ความรู้ที่ครอบคลุมถ้ำที่มีความสำคัญ มีการจำแนกประเภทของถ้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยว การผจญภัย การศึกษาวิจัย การสงวน อนุรักษ์และพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม และการสร้างกลไกการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายของการสำรวจถ้ำตามหลักวิชาการและมีการบริหารจัดการถ้ำประมาณ 100 แห่งภายในปี 2570
     ระยะที่ 3 เป็นระยะของการสร้างความมั่งคั่ง ยั่งยืนในการบริหารจัดการถ้ำ (เป้าหมายปี 2580) พัฒนาเศรษฐกิจที่มั่งคั่งให้ชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและดูแลรักษาถ้ำมีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรถ้ำอย่างสมดุลเป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายของการสำรวจถ้ำตามหลักวิชาการและมีการบริหารจัดการถ้ำประมาณ 200 แห่งภายในปี 2580

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...