นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกรเทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐานให้ที่ประชุมได้รับทราบ ซึ่งในขณะนี้กรมขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) คณะนวัตกรรม ในการช่วยออกแบบเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่เพื่อติดบนหลังคารถ โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะนำร่องในรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เส้นทางละ 3 คัน ซึ่งในปัจจุบันมี 129 เส้นทาง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า และจะนำมาดำเนินการใช้ภายใน ก.พ.นี้ ก่อนที่จะประเมิน เพื่อขยายผลนำไปใช้กับรถบรรทุกต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของรถขนาดเล็ก รวมถึงจักรยานยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนหลายล้านคันนั้น หากสนใจสามารถมานำแบบเครื่องฟอกฯ ที่ได้ออกแบบไว้ไปใช้ได้ โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีการบังคับซื้อแต่อย่างใด
“ตอนนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน ได้เห็นต้นแบบที่จะให้ ขสมก.นำมาติดตั้งที่หลังคาและลองวิ่งดู ซึ่งจะใช้หลักการคล้ายกับการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน ไม่ต้องเสียบปลั๊ก โดยจะใช้การเคลื่อนที่ของรถให้อากาศเข้ามาในท่อ โดยมีการจับค่าก่อนรถออกกับหลังจากรถออกแล้วว่า ความเร็วของรถวิ่งแล้วมีปริมาณลมเข้าขนาดไหน และสามารถรู้ว่าลมผ่านกรองอากาศมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้ให้ดูที่กรองอากาศสามารถสกัดจับฝุ่นได้ มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เราเป็นเรื่องการเอาประยุกต์ใช้ เพราะปัญหาของ PM 2.5 นั้น 70% เกิดจากรถ” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า เครื่องที่จะนำมาใช้ในรถเมล์ ขสมก.ดังกล่าวนั้น จะสามารถรับอากาศได้ 1 คิว ซึ่งจากทดสอบของคณะนวัตกรรม มช.นั้น พบว่า หากใช้ความเร็วรถวิ่ง 20 กม./ชม. ระยะเวลา 1 ชม. จะสามารถฟอกอากาศได้ 2 หมื่นคิว/1 ชม./1 คัน ขณะที่คนปกติจะใช้อากาศบริสุทธิ์หายใจ 0.5 คิว/ชม. หมายความว่า หากรถเมล์ 1 คัน วิ่ง 1 ชม. อากาศบริสุทธิ์จะรองรับคนได้ 4 หมื่นคน
ทั้งนี้ เครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่นั้น ใช้ได้ 400 ชม.หรือประมาณ 2-3 สัปดาห์ ขณะเดียวกัน หากบนหลังคารถมีพื้นที่เพียงพอ จะดำเนินการติดตั้งเครื่องดังกล่าว 2 ชุดต่อ 1 คัน และเครื่องดังกล่าวมีต้นทุนไม่แพง หรือราคาเครื่องละประมาณ 500 บาท เนื่องจากใช้ท่อ PVC เป็นวัสดุ