รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งที่ปรึกษารัฐมนตรี อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้ตรวจกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมประสานจัดหางานจังหวัดพื้นที่อีอีซี ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา และหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่ เตรียมตำแหน่งงานว่างด้านอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 15,000 อัตรา ช่วยเหลือดูแลลูกจ้างจำนวนกว่า 1,500 คน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างกรณี บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอ็มจะยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563 โดยเกรทวอล มอเตอร์ส จะซื้อศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็มประเทศไทยในจังหวัดระยอง จึงมอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดระยอง โดยมี นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองตามกฎหมาย
รศ.ดร.จักษ์ฯ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง พบว่า บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 111/1 หมู่ที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ประกอบกิจการประกอบรถยนต์เชฟโรเลต ปัจจุบันมีลูกจ้างประมาณ 1,100 คน และบริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 111/4 หมู่ที่ 4 นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ประกอบกิจการผลิตเครื่องยนต์ ปัจจุบันมีลูกจ้างประมาณ 400 คน รวมทั้งสองบริษัทมีลูกจ้างประมาณ 1,500 คน กรณีที่บริษัททั้งสองยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทย ภายในสิ้นปี 2563 โดยขายกิจการให้กับ บริษัท เกรท วอล มอเตอร์ส จำกัด (บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เอสยูวีและรถปิคอัพรายใหญ่ของประเทศจีน) ซึ่งนายจ้างใหม่มิได้รับโอนลูกจ้างแต่อย่างใดและยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการรับสมัครลูกจ้างกลุ่มเดิมเข้าทำงานแค่ไหนเพียงใด
รศ.ดร.จักษ์ฯ กล่าวต่อว่า บริษัททั้งสองได้เลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดประมาณ 1,500 คน (ปัจจุบันไม่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง) โดยมีแผนกำหนดการเลิกจ้างในเบื้องต้น จะเลิกจ้างลูกจ้างในส่วนของการผลิตชิ้นส่วน ปลายเดือนมิถุนายน 2563 เลิกจ้างลูกจ้างในส่วนของเครื่องยนต์ ปลายเดือนตุลาคม 2563 และเลิกจ้างลูกจ้างในส่วนของงานสนันสนุนในปลายปี 2563
ทั้งนี้ จากผลการหารือกับผู้แทนบริษัทฯ กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน โดยทั้งสองฝ่ายจะบูรณาการการทำงานตามภารกิจ โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นอกจากนี้ จะจ่ายเงินเพิ่มให้ลูกจ้างเป็นเวลาอีก 4 เดือน ทางด้านหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะให้การดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ขึ้นทะเบียนว่างงาน การให้บริการจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนของตำแหน่งงานได้ประสานให้จัดหางานจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือดูแลลูกจ้างของทั้งสองบริษัทที่มีจำนวนกว่า 1,500 คน เบื้องต้น ได้เตรียมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศที่เกี่ยวกับยานยนต์ไว้แล้วจำนวน 15,132 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นแรงงานด้านการผลิต ช่างซ่อมเครื่องจักรกลและยานยนต์อื่นๆ ช่างซ่อมยานยนต์ ช่างเทคนิควิศวกรรม และวิศวกรด้านยานยนต์ เป็นต้น ส่วนตำแหน่งงานว่าง 3 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) แยกเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรา 660 คน ชลบุรี 643 คน และระยอง 1,233 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,536 คน ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างที่ได้รัยผลกระทบให้ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองตามกฎหมายต่อไป