ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ “อุ่นอ๊กอุ่นใจ๋ เมื่อลำไยมีประกั๋นภัย” โดยมีนายดำรง จินะกาศ ประธานลำไยแปลงใหญ่แม่ทา กล่าวต้อนรับ และนายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. และพันธมิตรเครือข่าย ประกอบด้วย นายสุรินทร์ ตนะศุภผล ผู้ช่วยสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และMr.Tamura Chief sales distridution officer ร่วมลงพื้นที่พบเกษตรกรผู้ปลูกลำไย จำนวน 200 คน โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลลำไย ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดลำพูน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้เห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) แบบครบวงจร เป็นประเทศแรกของโลก เมื่อต้นปี 2562 เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ โดยมีบริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกันภัย และจากผลการดำเนินงานรับประกันภัยลำไยในปี 2562 พบว่า มีการจัดทำประกันภัย รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,053 ฉบับ คิดเป็นเบี้ยประกันภัย 540,430 บาท โดยมีกรมธรรม์ประกันภัยที่เรียกร้องเงินชดเชย จำนวน 930 ฉบับ คิดเป็นเงินชดเชยประมาณ 3.5 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรับประกันภัยในปี 2562 จะประสบผลขาดทุน บริษัทผู้รับประกันภัยทั้งสองบริษัท ยังคงดำเนินการรับประกันภัยลำไยต่อในปี 2563 เพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่อง และเพื่อให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไย
ด้านนายดำรง จินะกาศ ประธานลำไยแปลงใหญ่แม่ทา กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่การปลูกลำไยของจังหวัดลำพูน จะมีปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศไม่ค่อยแน่นอน บางครั้งฝนตกน้อย ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ต้นลำไยได้รับความเสียหาย ถึงแม้เกษตรกรจะแก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำมาใส่สวนลำไย ก็จะมีค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน เป็นต้น ทำให้ชาวสวนลำไย เห็นว่า การที่มีกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลลำไยเกิดขึ้น จะมีประโยชน์มาก อย่างน้อยเมื่อเกิดภัย เราก็จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากบริษัทประกันภัย ถึงแม้เงินที่ได้รับมามีจำนวนอาจจะไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่ได้รับทั้งหมด แต่ก็สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันใส่เครื่องสูบน้ำ และจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ในการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงได้บูรณาการร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประกันภัยลำไย ในปี 2563 โดยเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรไทยในการทำประกันภัยพืชผลลำไย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยอันอาจเกิดจากภัยธรรมชาติ อีกทั้งเพิ่มพื้นที่ในการรับประกันภัยลำไยจาก 24 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็น 5 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน และลำพูน เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกลำไยประมาณ 69% ของพื้นที่ปลูกลำไยทั้งประเทศ
สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ประจำปี 2563 จะใช้ข้อมูลน้ำฝนจากระบบดาวเทียม GSMAP อย่างเป็นทางการโดยศูนย์ข้อมูลดาวเทียมของ The Remote Sensing Technology Center of Japan (RESTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้กรมธรรม์ประกันภัยพืชผลลำไยได้มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการเพื่อให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น โดยใช้เกณฑ์การจ่ายเงิน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1) เมื่อจำนวนวันที่เกิดภาวะฝนแล้ง ถึงจำนวนวันที่กำหนดในกรมธรรม์เป็นดัชนีฝนแล้ง จะจ่ายเงินชดเชย 900 บาท ต่อหน่วยความคุ้มครอง
2) เมื่อจำนวนวันที่เกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่องเกินกว่าจำนวนวันที่กำหนดในกรมธรรม์เป็นดัชนีฝนแล้ง บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยต่อวัน ให้วันละ 60 บาทต่อหน่วยความคุ้มครอง จนกว่าฝนแล้งจะสิ้นสุด หรือจนสิ้นสุดระยะเวลาประกันภัย แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดก่อน
ทั้งนี้ จำนวนเงินชดเชยตามข้อ 1 และข้อ 2 รวมแล้วจะไม่เกินจำนวนเงินชดเชยสูงสุด 2,100 บาทต่อหน่วยความคุ้มครอง ตลอดระยะเวลาประกันภัยโดยจำนวน 1 หน่วยความคุ้มครอง เท่ากับ เงินกู้สำหรับการเพาะปลูกเพื่อการเอาประกันภัย 10,000 บาท โดยมีอัตราเบี้ยประกันภัย 399 บาทต่อหน่วยความคุ้มครอง ซึ่งการจ่ายชดเชยจะแตกต่างจากปี 2562 คือ ปี 2563 จะใช้เกณฑ์การวัดดัชนีฝนแล้งเพียงเกณฑ์เดียว ทำให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีภาวะฝนแล้งเกินกว่าดัชนีฝนแล้ง จะได้รับเงินชดเชยรายวันที่มีฝนแล้งต่อเนื่อง ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่กู้เงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถขอทำประกันภัยผ่านธนาคารได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้ความคุ้มครองภัยภาวะฝนแล้งในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2563
“สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชน ได้เข้าถึงและนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการประกันภัยพืชผล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร อันจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปการประกันภัยพืชผลของประเทศไทยอย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย