นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงประเด็นการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ณ อาคารรัฐสภา โดยกล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามข้อมูลการจดทะเบียนโรงงานจำพวก 2 และ 3 ของปี 2562 พบว่า แม้จะมีการยื่นขอปิดกิจการโรงงานจำนวน 1,689 โรงงาน แต่เมื่อเทียบกับการขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่ ซึ่งมีถึง 3,175 โรงงาน ถือว่าโรงงานเปิดใหม่มีมากกว่าที่ปิดกิจการสูงถึงร้อยละ 88.0 หรือเกือบ 1 เท่าตัว และหากนับรวมจำนวนโรงงานที่ยื่นขอขยายกิจการเข้าไปด้วยจะมีจำนวนทั้งสิ้น 4,303 โรงงาน ซึ่งมากกว่าที่ปิดกิจการถึงร้อยละ 154.8 หรือประมาณ 1.5 เท่าตัว ผลการบรรจุงานของกรมการจัดหางาน จำนวน 54,494 คน ทางด้านสถานการณ์ด้านแรงงาน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ เดือนธันวาคม 2562 พบว่ากำลังแรงงานรวม 38.21 ล้านคน ผู้มีงานทำ 37.66 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 367,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.0% ในจำนวนนี้มีผู้ว่างงานจบระดับอาชีวศึกษา จำนวน 24,200 คน โดยเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 16,900 คน
โฆษก ก.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการรองรับผู้ว่างงานหรือหางานทำไม่ได้ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน มี 3 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการเฝ้าระวัง ได้แก่ การให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ทั้ง 5 หน่วยงานลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังตรวจสอบ การลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ การลดชั่วโมงการทำงาน ลดสวัสดิการที่เป็นคุณกับลูกจ้างน้อย การลดจำนวนลูกจ้าง เช่น งดรับเพิ่ม โครงการเกษียณก่อนกำหนด การหยุดส่งเงินสบทบประกันสังคมหรือส่งไม่ครบ รวมถึงนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวโดยใช้มาตรา 75 ของสถานประกอบการ
2. มาตรการหลังเลิกจ้าง ได้แก่ การตรวจสอบสิทธิ์ อัตราการจ่ายค่าชดเชย กรณีเลิกจ้าง สูงสุด 400 วัน การตรวจสอบสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการว่างงาน เลิกจ้าง กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน การจัดหางาน จับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับนายจ้าง การพัฒนาทักษะฝีมือการแนะแนวอาชีพ ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงการจ่ายเงินประกันการว่างงานจากกองทุนประกันสังคม ในกรณีเลิกจ้าง โดยให้ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน สำหรับกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ส่วนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
3. มาตรการระยะยาว ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการแรงงานของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจในเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการวางแผน การเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงาน (Labour Market Information :LMI) ให้ประชาชนรับรู้ เช่น รายได้ของแต่ละอาชีพ อัตราการว่างงานของผู้ที่เรียนจบในระดับการศึกษาต่างๆ อัตราการว่างงานของผู้ที่จบปริญญาตรีตามรายสาขาวิชา และการขาดแคลนแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพ ผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย การให้บริการแนะแนวอาชีพ และจัดทดสอบความถนัดทางอาชีพ รวมถึงการประสานนายจ้าง สถานประกอบการ เตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับผู้ว่างงาน รวมทั้งมีหลักสูตรเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีงานทำ อาทิ สาขาเมคคาทรอนิกส์ เทคโนโลยี CNC เทคโนโลยี PLC เทคโนโลยี automation การใช้โปรแกรมเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ การออกแบบระบบควบคุมนิวแมติกส์ ไฮดรอลิกส์ ทักษะภาษาต่างประเทศ เป็นต้น