กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมละพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ร่วมกับจังหวัดปทุมธานี แถลงข่าวขับเคลื่อนและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ยึดพื้นที่เป็นหลัก ขับเคลื่อนตามความต้องการของเกษตรกร ชู...แปลงผักสามโคก จุดนำร่องปี 62 สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม ชี้เป้าอีก 9 จังหวัด 9 จุด ดำเนินการปี 63
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ร่วมกับจังหวัดปทุมธานี จัดแถลงข่าวการขับเคลื่อนและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ระดับเขตที่ 1 ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารงานส่งเสริมการเกษตร ปีงบประมาณ 2563 ณ แปลงใหญ่หมากเหลือง ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมกับ นายสมโชค ณ นคร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท นายสมเดช คงกระพันธุ์ เกษตรจังหวัดปทุมธานี และนายสุขุม ไตลังคะ ผู้นำกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผักปลอดภัยอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ 953,660 ไร่ ประชากรจำนวนกว่า 1,163,604 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ มีพื้นที่ทำการเกษตร 333,143 ไร่ เกษตรกร 20,814 ครัวเรือน จังหวัดปทุมธานีมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางจังหวัด ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ทำให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือฝั่งตะวันออก ได้แก่ อ.เมืองปทุมธานี บางส่วน อ.ลำลูกกา อ.หนองเสือ อ.คลองหลวง และอ.ธัญบุรี ฝังตะวันตก ได้แก่ อ.เมืองปทุมธานี บางส่วน อ.ลาดหลุมแก้ว และอ.สามโคก เกษตรกรส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก พื้นที่ประมาณ 265,062 ไร่
รองลงมาเป็นพืชสวน เช่น พืชผักชนิดต่างๆ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม มะพร้าวอ่อน และไม้ผลอื่นๆ เนื่องจาก ทำเลที่ตั้งของจังหวัดปทุมธานี อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร ทำให้มีการขยายตัวของชุมชนที่อยู่อาศัย และความเจริญอย่างทั่วถึงทั้งจังหวัด อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าส่งสินค้าทางการเกษตรประเภทพืชผักและผลไม้ ขนาดใหญ่ของประเทศ ได้แก่ ตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดผลไม้เกรดคัดพิเศษ ที่ตลาดไอยรา ทำให้สามารถรองรับผลผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังทำให้ประชากรส่วนหนึ่งยังคงยึดอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก และมีศักยภาพในการผลิต พร้อมที่จะรับการพัฒนาและร่วมโครงการที่เป็นประโยชน์ต่ออาชีพที่ทำอยู่
ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท (ผอ.สสก.1 จ.ชัยนาท) เผยว่า เมื่อปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ขึ้น เพื่อพัฒนาการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเกษตรกร โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมให้เกษตรกรรุ่นใหม่ มีบทบาทในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และพัฒนารูปแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ให้มีการ บูรณาการ การทำงานซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงระบบการทำงานและโครงสร้างการส่งเสริมการเกษตรให้เกิดผลสำเร็จในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
โดยกำหนดให้ดำเนินการนำร่องจำนวน 6 จุด ในพื้นที่ 6 เขต ทั่วประเทศและใช้กลไกของแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนและ Young Smart Farmer ในการขับเคลื่อนงาน ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้กำหนดให้แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นจุดนำร่องเมื่อปี 2562 สืบเนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว มีศักยภาพในการผลิตผักปลอดภัย มีตลาดรองรับที่แน่นอน รวมทั้งมีผู้นำกลุ่มเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถบริหารจัดการด้านการตลาดได้เป็นอย่างดี จึงได้นำมาเป็นจุดต้นแบบในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ดังกล่าว
ด้านนายสมเดช เกษตรจังหวัดปทุมธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อได้รับนโยบายจากกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท แล้ว ได้ดำเนินการโดยใช้หลักคิดเชิงพื้นที่ จัดเวทีชุมชน 3 ครั้ง เพื่อให้ทราบบริบทของพื้นที่และความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง เพื่อถ่ายทอดความรู้ ตามความเหมาะสม และความต้องการในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น วัสดุอุปกรณ์ให้น้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตซึ่งเดิมจะใช้เรือลากไปตามร่องสวน ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกผักแบบหว่านเป็นแบบเพาะกล้า เพื่อลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสม รวมถึงการพัฒนาจุดรวบรวมสินค้าให้ มีคุณภาพ เป็นต้น
จากการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ต้นทุนเมล็ดพันธุ์ลดลง จากเดิมประมาณ 25% ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ตันต่อไร่เป็น 1.5 ตันต่อไร่ ทำให้มีผลผลิตส่งจำหน่ายที่ตลาด อย่างต่อเนื่องและยังสามารถเชื่อมโยงตลาดที่อยู่ใกล้เคียงได้เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ยังสร้างอาชีพในชุมชน โดยการเพาะกล้าผักขาย ทำให้คุณภาพของผักที่ปลูกจากการเพาะกล้าแทนการหว่านเมล็ดนั้น มีการเติบโตสม่ำเสมอลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืชผัก ลดแรงงานในการให้น้ำเนื่องจากปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตผักให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจในพื้นที่อยู่ใกล้เคียง อีกด้วย
การดำเนินงานโครงการฯ ในพื้นที่แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อ.สามโคก ส่งผลให้ สมาชิกกลุ่มและชาวชุมชน ได้รับประโยชน์ในการพัฒนาการประกอบอาชีพที่ทำอยู่เป็นอย่างมาก โดย นายสุขุม ไตลังคะ เกษตรกรผู้นำกลุ่มฯ เปิดเผยว่า กลุ่มได้มีการร่วมกันคิดวิเคราะห์ศักยภาพของกลุ่มและชุมชนตลอดจนปัญหาในการผลิตผักของสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และกำหนดเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่ม ร่วมกันโดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัด ธกส. บริษัทผู้รับซื้อผลผลิตตลอดจนเกษตรกรเครือข่าย ทั้งจากอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมให้คำแนะนำสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ และงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมการผลิต ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ทำให้สมาชิกกลุ่มได้รับความรู้เพิ่มขึ้น สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการผลิตพืชผักของตนเองได้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพปลอดภัยได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และตลาด
นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมการผลิต ทั้งเรื่องการเพาะกล้าผักเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนการวางระบบน้ำแบบสปริงเกอร์แทนการใช้เรือรดน้ำช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการรดน้ำผักลงได้เป็นอย่างมากซึ่งสมาชิกกลุ่มมีความพึงพอใจมาก
ผอ.สสก.1 จ.ชัยนาท เผยว่า จากการดำเนินงานในปี 2562 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จไปอีกขั้น ซึ่งใน ปี 2563 จะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องในจุดนำร่องและดำเนินการใหม่ใน 9 จังหวัดภาคกลาง อย่างน้อยจังหวัดละ 1 จุด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี สระบุรี ลพบุรี กรุงเทพฯ และปทุมธานี โดยแนวทางการดำเนินงานปี 2563 ประกอบด้วย
1) พัฒนาการเกษตรโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area - based) กำหนดขอบเขตชัดเจน นำข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช (Zoning) ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้เกษตรกรบริหารพื้นที่ของตนได้อย่างเหมาะสม 2) ใช้เวทีชุมชน วิเคราะห์ข้อมูลสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เพื่อให้เกิดแผนพัฒนาการเกษตรที่เกิดจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง 3) ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม บูรณาการงาน & งบประมาณ จากทุกภาคส่วน และ 4) พัฒนาต่อยอดโดยใช้กลไกการพัฒนาที่มีอยู่แล้ว ทำงานบนฐานข้อมูล เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่ และขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ เช่น ระบบการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ Young Smart Farmer และวิสาหกิจชุมชน โดยเป้าหมายการพัฒนางานคือ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชน มีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรของตนเองตลอดห่วงโซ่อุปทาน และกลุ่มเกษตรกรได้รับการพัฒนา ให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้ เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
การขับเคลื่อนและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ตามนโยบายกรมส่งเสริมการเกษตร จะประสบผลสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องเกษตร ต้องอาศัยความร่วมมือของพี่น้องเกษตรกร อาศัยการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง โดยแนวทางการพัฒนาจะต้องเกิดจากความต้องการของเกษตรกรเป็นหลัก ถ้าทำได้เช่นนี้ ผมเชื่อมั่นว่าทุกจุดดำเนินการของพื้นที่ 9 จังหวัดภาคกลาง ในปี 2563 จะทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ผอ.สสก.1 กล่าวในที่สุด