นายกรัฐมนตรีประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เร่งทุกหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนต่างๆ เพื่อช่วยกู้สถานการณ์วิกฤตจากภัยโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่น หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ด้านปลัดกระทรวงพลังงานชี้แจง 4 นโยบายพลังงานสำคัญที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นรูปธรรม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่าครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้การต้อนรับ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายต่างๆ และมอบนโยบายให้ทุกส่วนราชการที่เข้าร่วมกว่า 40 หน่วยงาน บูรณาการการทำงานในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น
สำหรับในส่วนของกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้นำเสนอความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานที่สำคัญ 4 ด้าน คือ
1.ด้านไฟฟ้า การขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งเตรียมประกาศหลักเกณฑ์การรับซื้อได้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยมีเป้าหมายรวมรับซื้อไฟได้ 700 เมกะวัตต์ เกิดเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนกว่า 6 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ให้กองทุนหมู่บ้านทุกปี และยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาวัสดุเกษตร 2.5 หมื่นตัน ซึ่งขณะนี้มีโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องที่สามารถยื่นขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนได้ทันที อาทิ โรงไฟฟ้าชุมชนที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่อ.บันนังสตา จ.ยะลา และที่อ.เมือง จ.นราธิวาส
2.ด้านน้ำมัน การส่งเสริมการใช้น้ำมัน B10 และการบริหารสต็อคน้ำมันปาล์มที่ใช้ในภาคพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้ B10 เพื่อเป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 และสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป B10 เริ่มมีจำหน่ายทุกสถานีบริการน้ำมันแล้ว เป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลให้กับพืชพลังงานปาล์มน้ำมัน ซึ่งภายหลังจากประกาศนโยบายทำให้ปัจจุบัน (เฉลี่ย 1-5 มี.ค. 63) ราคาปาล์มทะลายอยู่ที่ 5.30 บาท/กก.จากเดิมก่อนกำหนดนโยบายอยู่ที่ประมาณ 2.80 บาท/กก. และราคาน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) อยู่ที่ 33.50 บาท/กก.จากเดิม 16.20 บาท/กก. อีกทั้งยังวางมาตรการกำกับดูแลบริหารจัดการข้อมูลสต็อคไบโอดีเซลอย่างครบวงจร และยังวางมาตรการป้องกันการลักลอบน้ำมันปาล์มดิบเข้ามาในประเทศอย่างได้ผลด้วยการใช้เทคนิคตรวจ DNA ของสัญชาติน้ำมันปาล์มดิบ
3.ก๊าซธรรมชาติ ความคืบหน้าการพัฒนา LNG Hub ได้วางโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางด้านก๊าซธรรมชาติเหลวของเอเชีย โดยกำหนดไว้ในปี 2569 จะพัฒนา LNG Terminal และท่อส่งก๊าซ (โรงไฟฟ้าขนอมและสุราษฎร์ธานี) แล้วเสร็จ ปี 2571 พัฒนา LNG Terminal (โรงไฟฟ้าจะนะ) แล้วเสร็จ และในปี 2572 พัฒนาท่อส่งก๊าซ (โคราช-โรงไฟฟ้าภาคอีสาน) แล้วเสร็จ ซึ่งสามารถนำโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เกิดประโยชน์ทางธุรกิจและเกิดการจ้างงาน
4.ภัยแล้ง กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญกับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ จึงได้เตรียมวางแผนร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการบริการจัดการให้เกิดความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าโดยไม่กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคช่วงภัยแล้ง พร้อมกับได้พัฒนาระบบ Geographical Information System เพื่อติดตามจุดติดตั้งระบบสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ทั่วประเทศเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยตัดสินใจเพื่อกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2563 ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 2,003 บ่อ คาดว่าจะแล้วเสร็จอีก 662 บ่อ
ทั้งนี้ นายกได้ยืนยันว่าจะชะลอการจ่ายเงิน 1,000 บาทให้กับประชาชนเพื่อบรรเทาผลกระทบวิกฤตโควิด-19 แต่จะเปลี่ยนเป็นการจ่ายเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 3,000 บาท แทน