รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการรับมือแรงงานไทยในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 เดินทางกลับประเทศไทย กรณีการแพร่ระบาดในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม และมาตรการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศที่เดินทางกลับประเทศไทยด้านความเป็นอยู่และอาชีพ พร้อมด้วย นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาลไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยกล่าวว่า เมื่อแรงงานที่เดินทางกลับมาจากประเทศอื่น ๆ ถึงประเทศไทยแล้วจะต้องรับการคัดกรอง โดยด่านตรวจคนหางาน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และเชียงใหม่ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สายการบิน ทั้งนี้ หลังจากแรงงานไทยที่กลับมาและผ่านการกักตัวไว้ 14 วันแล้ว กระทรวงแรงงาน จะดำเนินการตรวจสอบสิทธิประโยชน์การเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศแก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดหากเป็นสมาชิกฯ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากโรคระบาด ซึ่งทางการของประเทศของประเทศนั้นๆ ประกาศกำหนดแล้ว จำนวน 15,000 บาท สำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำงาน กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รองรับจำนวน 81,562 อัตรา ส่วนผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือจากเดิมในระบบ 70,000 คน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ได้เปิดฝึกอบรมเพิ่มอีก 30,000 คน รวมฝึกทั้งสิ้น 100,000 คน ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระต้องการจะพัฒนาทักษะฝีมือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็จะฝึกฝีมือให้จากเดิม 100,000 คน ได้เปิดฝึกอบรมเพิ่มอีก 20,000 คน รวมฝึกทั้งสิ้น 120,000 คน
รศ.ดร.จักษ์ฯ ยังกล่าวถึงมาตรการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศที่เดินทางกลับประเทศไทยด้านความเป็นอยู่และอาชีพ โดยกระทรวงแรงงาน มีมาตรการป้องกัน ได้แก่ 1) กรมการจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานสอนทำหน้ากากอนามัยชนิดผ้าใช้เองในครัวเรือน และสอนทำเจลล้างมือ ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มอาชีพอิสระ กว่า 300 คน 2) ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปรู้จักวิธีการป้องกันตนเอง จากการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทั้งในและนอกประเทศ 3) สำนักงานประกันสังคมแจ้งให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีผู้ประกันตน เข้ารับการตรวจแล้ว จำนวน 52 คน ณ สถาบันบำราศนราดูร ผลการตรวจเบื้องต้นพบว่า ยังไม่ป่วยเป็นโควิด 4)กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรณรงค์ส่งเสริมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 แก่สถานประกอบการแล้ว 550 แห่ง ลูกจ้าง 330,325 คน และ 5) ด่านตรวจคนหางาน กรมการการจัดหางาน ณ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และเชียงใหม่ บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดกรองแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ
ส่วนมาตรการเยียวยาลดผลกระทบ ได้แก่ 1)ตรวจสอบสิทธิประโยชน์การเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศแก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาด หากเป็นสมาชิกฯ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากโรคระบาด ซึ่งทางการของประเทศของประเทศนั้นๆ ประกาศกำหนดแล้ว จำนวน 15,000 บาท 2) จัดหางาน ตำแหน่งงานว่าง 81,562 อัตรา และจ้างบัณฑิตจบใหม่มาเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ 3) พัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานในระบบจากเดิม 70,000 คน ฝึกอบรมเพิ่มอีก 30,000 คน รวมฝึกได้ทั้งสิ้น 100,000 คน 4) พัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานนอกระบบจากเดิม 100,000 คน ฝึกอบรมเพิ่มอีก 20,000 คนรวมฝึกได้ทั้งสิ้น 120,000 คน 5) โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานประกันสังคมและธนาคารพาณิชย์ โดยให้สถานประกอบกิจการยื่นขอสินเชื่อในดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด วงเงิน 30,000 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการเดือนธันวาคม 2563 6) ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ปี 2563 (อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณา) 7) อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรค COVID – 19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 8) แจ้งเวียน สปส.กทม./จังหวัด/สาขา และสถานพยาบาลประกันสังคมทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติในการให้บริการรักษาพยาบาล กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาโรค COVID – 19 และ 9) ส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาฝีมือแรงงานพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ฯ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินกู้และเงินอุดหนุนจากกองทุน