กฟผ. เสนอแผนนำเข้า LNG ล็อตใหม่ ระหว่างปี 2563 - 2565 ต่อ กบง. คาดนำเข้าปีแรกจะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 1,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นต้นทุนค่าเชื้อเพลิง Ft ลดลงประมาณ 0.86 สตางค์ต่อหน่วย หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยจากค่าไฟที่ลดลง พร้อมกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดก๊าซฯ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า LNG ในตลาดเอเชีย (LNG Hub)
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เสนอแผนการจัดหา LNG ของ กฟผ. ระหว่างปี 2563 - 2565 เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกำหนดเป็น 2 แนวทาง คือ การจัดซื้อระยะยาว โดยจัดซื้อจาก ปตท. ภายใต้สัญญาหลักซื้อขายก๊าซธรรมชาติ Global DCQ และการจัดซื้อระยะสั้น โดยจัดหา LNG เพิ่มเติมในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญากับ ปตท. ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายในเดือนมีนาคมนี้
รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า หาก กฟผ.สามารถดำเนินการจัดหา LNG ได้ตามที่คณะกรรมการ กฟผ. เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนการจัดหา LNG ล็อตใหม่ได้ประมาณ 1,600 ล้านบาท หรือส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในค่า Ft ลดลงประมาณ 0.86 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้การนำเข้า LNG ของ กฟผ. ยังช่วยเสริมความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในรูปแบบของ LNG เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติของประเทศ และพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า LNG ในตลาดเอเชีย (LNG Hub) ต่อไป
สำหรับกรณีการจัดหาและนำเข้า LNG แบบตลาดจร (SPOT) ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 นั้น ปัจจุบัน กฟผ. ได้ดำเนินการนำเข้า LNG ลำเรือแรก พร้อมส่งมอบจำนวน 65,000 ตัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 - 29 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศต่ำ (Off-Peak) ณ สถานี LNG มาบตาพุด จ.ระยอง และสำหรับการนำเข้า LNG ลำเรือที่สอง ในปริมาณ 65,000 ตัน จะเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศสูง (Peak)
ทั้งนี้ การนำเข้า LNG กฟผ. นับเป็นความสำเร็จในการทดสอบระบบเปิดให้บุคคลที่สามใช้หรือเชื่อมต่อระบบ (Third Party Access : TPA) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงข้อกำหนด หลักเกณฑ์ ของ TPA ก่อนที่จะเปิดการแข่งขันเสรีก๊าซฯ อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงกระบวนการจัดหา LNG ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการสำหรับ
ผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (Shipper) รายใหม่ และเพื่อให้หน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องได้ศึกษารายละเอียดและหาแนวทาง แก้ไขร่วมกันต่อไป