ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
31 มี.ค. 2563

คอลัมน์ เขียนให้คิด :  โดย  ซีศูนย์

ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ช่วงนี้บ้านเราคงจะลำบากไปอีกพักนะครับ คุณโควิท-19 ที่เข้าวุ่นวายนับไปก็เดือนสองเดือนเข้าไปแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อไร แต่ดูจากสถานการณ์ทั่วโลกแล้วคงไม่จบลงง่ายๆ นะครับ ซ้ำยังมีผลกระทบกับเศรษฐกิจ สังคม ส่วนการเมืองบ้านเราช่วงนี้อาจจะซาลงไปบ้าง การเลือกตั้งท้องถิ่นก็คงหาคำตอบไม่ได้เช่นกันว่าจะนับหนึ่งกันเมื่อใด

ท่านที่ทำหน้าที่ในด้านการเมืองท้องถิ่น ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภา ก็ต้องทำหน้าที่ไปพลางก่อนอีกระยะหนึ่งละครับ มาว่าของเราต่อจากคราวที่แล้วพูดถึงคำนิยามที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นในกฎหมายลูกของ ป.ป.ช.อีกคำ  คือคำว่า “ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น” ซึ่งตามคำนิยามหมายถึง ผู้ทําหน้าที่ช่วยเหลือผู้บริหารท้องถิ่น และยังรวมถึงผู้ทําหน้าที่ช่วยเหลือสภาท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ตามที่ ปปช.กำหนดตำแหน่ง ซึ่งต่อมา ป.ป.ช.มีประกาศ กำหนดตำแหน่งผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้บริหารท้องถิ่นและผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือสภาท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นของ อปท.เป็นผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ซึ่งได้แยกแต่ละประเภทของท้องถิ่น ก็คือ

บรรดาที่ปรึกษา เลขานุการของนายก อบจ.นายกเทศมนตรี เลขานุการของนายก อ.บ.ต. ส่วน กทม.ยังมีตำแหน่งประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ทั้งยังรวมถึงเลขานุการของประธานสภาและรองประธานสภากรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกันเมืองพัทยาก็จะมีตำแหน่งประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาเมืองพัทยา

ส่วนที่ว่าคนเหล่านี้ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะต้องรับผิดชอบตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายกำหนดแล้ว  บางตำแหน่งยังเกี่ยวข้องกับการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินอีกด้วย โดย ป.ป.ช.ได้มีประกาศกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่นที่ต้องยื่นแสดงรายการทรัพย์สิน ถ้าของ กทม.มีประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่า กทม.ถ้าเป็นเมืองพัทยามีประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาและเลขานุการนายกเมืองพัทยา ถ้าเป็น อบจ. เทศบาลนคร คนที่เป็นที่ปรึกษา เลขานุการนายก ก็ต้องยื่นเช่นกัน ส่วนวิธีการยื่นอย่างไรได้เคยเล่าในตอนก่อนบ้างแล้วไม่ว่าเรื่องระยะเวลาที่ต้องยื่นเมื่อเข้า เมื่อพ้นภายใน 60 วัน เป็นต้น

ส่วนอีกคำนิยามที่น่าสนใจ คือ “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ซึ่งหมายถึงคนที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล สําหรับข้าราชการพลเรือน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพสําหรับข้าราชการทหาร และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้ดํารงตําแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกําหนด หรือผู้ซึ่งดํารงตําแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด

ทั้งนี้ นอกจากคนที่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวอาจถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่แล้ว ยังต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินด้วย ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการไต่สวนหรือตรวจสอบทรัพย์สินกัน ซึ่งจะว่าในคราวต่อไป ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วๆ ไป เช่นคนที่อยู่ตำแหน่งต่ำกว่าอธิบดี หรือบรรดาเจ้าหน้าที่ของ อปท. ก็เหมือนเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งอื่นๆที่ กล่าวมาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะไต่สวนในกรณีที่ถูกร้องเรียนว่าทุจริตหรือทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เช่นกัน เว้นแต่ ป.ป.ช.จะมอบหมายให้หน่วยงานอื่นทำแทน ซึ่งจะว่ากันต่อในเรื่องไต่สวน

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงจะนึกถึงอีกหน่วยงานหนึ่งซึ่งมิใช่องค์กรอิสระแต่ทำหน้าที่ เหมือน ป.ป.ช.คือ ป.ป.ท.หรือเรียกชื่อเต็มว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ที่เกิดมาเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2550 ต่อมาปี 2559 ก็มาขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ตัวเลขาธิการจากเดิม ซี 10 ก็มาเป็นซีท11 ทุกวันนี้ ซึ่ง ป.ป.ท.ก็ทำหน้าที่เหมือน ป.ป.ช. แต่อยู่กับฝ่ายบริหาร

เมื่อครั้งใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ตอนนั้นมีการแบ่งหน้าที่กับ ป.ป.ช. โดยถ้าข้าราชการคนใดที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง ก็จะส่งให้ ป.ป.ท.ทำ ถ้าเป็นผู้อำนวยการกองขึ้นไป ป.ป.ช.ทำเอง แต่ในกฎหมายลูก ป.ป.ช.ปี 2561 กำหนดให้ในกรณีผู้ที่มีตําแหน่งตั้งแต่อํานวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าลงไปถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือกระทําผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ทั้งนี้ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของ ป.ป.ช. ทาง ป.ป.ช.จะมอบหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.ทำแทน ป.ป.ช. ก็ได้ โดย ปปช.จะส่งเรื่องที่รับไว้ให้ ป.ป.ท.ดําเนินการต่อไปภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ป.ป.ช.ได้รับเรื่อง

ส่วนการเทียบตําแหน่งว่าใครตำแหน่งอำนวยสูงหรือเทียบเท่าอย่างไร ป.ป.ช.จะเป็นผู้กําหนด นอกจากนั้น  ป.ป.ช.จะวางหลักเกณฑ์การไต่สวนและการชี้มูลของ ป.ป.ท.ให้สอดคล้องกับการดําเนินการของ ป.ป.ช. รวมถึงกําหนดระยะเวลาให้ทำตามกฎหมายด้วยได้ อีกนิดนะครับจะถึงวิธีการไต่สวนของ ป.ป.ช.ตามกันต่อนะครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...