‘รมช.ประภัตร’ ชูงานวิจัยและพัฒนาข้าว ต้องรองรับการแข่งขันตรงตามความต้องการของตลาดโลก มุ่งยกระดับการส่งออกข้าวไทย
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือ “แนวทางการเร่งรัดและการขับเคลื่อนแผนงานโครงการปีงบประมาณ 2563” พร้อมมอบโล่และเกียรติบัตรในพิธีเชิดชูเกียรติข้าราชการดีเด่น กรมการข้าว เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมการข้าวครบรอบ 14 ปี ณ ห้องประชุมจักรพันธ์ กรมการข้าว ว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเกิดภัยแล้งไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ตลอดจนสถานการณ์โรคติดต่อ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร ผลไม้ ปศุสัตว์ และประมง อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างวางแผนช่วยเหลือสินค้าด้านต่างๆ และตลอดระยะเวลาที่กำกับดูแลกรมการข้าว ได้มุ่งวางระบบการทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ อาทิ การผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการ การพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน การพัฒนาแปลงใหญ่ การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อใช้ในการทำนา
รวมทั้งวางระบบการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด หรือผู้ส่งออกข้าว เช่น พันธุ์ กข79 และพันธุ์ข้าวนุ่ม PTT 03019-18-2-7-4-1 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่อยู่ระหว่างเตรียมรับรองพันธุ์ สำหรับนโยบายที่จะให้มีการร่วมแรงร่วมใจกันวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ดีเพื่อการแข่งขันของศูนย์วิจัยข้าว และร่วมแรงร่วมใจในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ขอย้ำว่ายังคงให้มีการดำเนินงานเช่นเดิม และต้องเร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว
นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาเกิดฝนแล้ง น้ำท่วม โรคระบาดด้านข้าวต่างๆ จะส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย สร้างผลกระทบให้แก่ชาวนาเป็นจำนวนมาก ในระยะเร่งด่วนนี้ รัฐบาลจึงพยายามเร่งการชดเชยรายได้ ผ่านมาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ชาวนาในฤดูกาลผลิตที่กำลังจะมาถึง โดยการจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว และสนับสนุนให้มีการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาผู้ประสบภัยดังกล่าว ผ่านโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2563/64 ภายใต้แผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชาวนา
ทั้งนี้ กรมการข้าวยังต้องให้ความสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวเพื่อการแข่งขันของไทยตามความต้องการของผู้ส่งออกข้าว เช่น การวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น (ปัจจุบันผลผลิตต่อไร่ข้าวรอบที่ 1 : นาปี 666 กิโลกรัมต่อไร่ รอบที่ 2 : นาปรัง 669 กิโลกรัมต่อไร่) การวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าว รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาข้าวต้องให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนา โดยมีเป้าประสงค์ในอีก 2 – 3 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะมีพันธุ์ข้าวที่สามารถรองรับการแข่งขันและตรงตามความต้องการของตลาดโลก เพื่อยกระดับการส่งออกข้าวของประเทศไทย
นอกจากนี้ สถาบันการจัดการนานาชาติยังได้จัดอันดับประเทศไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 42 ของโลก เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ประเทศไทยมีความท้าทายในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สำคัญ เช่น กำหนดโจทย์การวิจัยที่ตอบสนองความต้องการประชาชน ภาคการผลิตและบริหาร ดังนั้น หากมีพันธุ์ข้าวที่ดี ถือว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะคู่แข่งได้ ซึ่งงานวิจัยและพัฒนาข้าวถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการผลิตข้าวของไทย