ถ้าโรคระบาดไม่จบในปีนี้ เราจะเจอ Great Depression !!!!
เราเคยคิดว่าจะสำรองเงินสดไว้ยามฉุกเฉินกี่เดือนของรายได้?
3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี
แต่รู้ไหมว่าคนส่วนใหญ่บนโลกนี้
มีเงินสดสำรองไว้ไม่ถึง 3 เดือน
ในทางกลับกัน พวกเขายังมีหนี้มหาศาลรออยู่ และคิดว่ามันจะหมุนไปเรื่อยๆได้
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่บุคคล แต่ยังเกิดขึ้นกับ “บริษัท” ส่วนใหญ่ของโลกนี้
เมื่อทั้งโลกกำลังขับเคลื่อนไปด้วยหนี้
เอารายได้สิ้นเดือนนี้มาจ่ายหนี้เดือนหน้า
แต่แล้ว..
บททดสอบมนุษยชาติครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี ก็เกิดขึ้น
โคโรนาไวรัส
แล้วถ้ามนุษย์ผ่านบททดสอบนี้ไปไม่ได้
อะไรจะเกิดขึ้น
ลงทุนแมนจะพาไปดูก้อนเมฆดำที่ลอยอยู่
ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น..
ตัวเลขบัญชีเงินฝากธนาคารของคนไทยล่าสุด เดือนมกราคม 2563
ประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากจำนวน 101.5 ล้านบัญชี
แต่รู้ไหมว่า 87% ของบัญชีทั้งหมด มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท
คำว่า 50,000 บาทนี้สำคัญ
เพราะมันแปลว่า ถ้าพวกเขาไม่มีรายได้
เขาจะใช้ชีวิตอยู่ได้ ไม่กี่เดือน..
และเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ประเทศไทย
แต่กำลังเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก
ตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานสัปดาห์ล่าสุดของสหรัฐอเมริกาพุ่งแตะ 3.3 ล้านคน
เป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการบันทึกสถิตินี้มา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐสั่งปิดร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า จำนวนมาก
ซึ่งมันจะแตกต่างจากครั้งก่อนๆที่การว่างงานมันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
ดังนั้นถ้ารัฐบาลอนุญาตให้กลับมาเปิดร้านอีกครั้ง การว่างงานก็น่าจะลดลง
แต่คำถามที่สำคัญคือ ธุรกิจที่หยุดชะงักทั่วโลก มันจะลากยาวไปอีกนานเท่าไร
ถ้า 1-2 เดือน ก็น่าจะพอรับไหว
แต่ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกนอกประเทศจีน ไม่มีทีท่าว่าจะชะลอลง..
หลายคนคาดการณ์ว่าเรื่องนี้จะลากยาวไปถึงเดือนตุลาคม
หลายคนคาดการณ์ว่าจะมีวัคซีนปลายปีนี้
แต่ถ้ามีอุบัติเหตุอะไรที่ทำให้เรื่องลากยาวเกินกว่าที่คาด?
เราเตรียมรับมือไว้แล้วหรือยัง
-ถ้าไวรัสมีการกลายพันธุ์ ทำให้การผลิตวัคซีนต้องล่าช้าออกไปอีก
-ถ้าประเทศที่ควบคุมการระบาดได้แล้ว กลับต้องย้อนกลับมามีการระบาดใหม่ เพราะมีการนำเข้าเชื้อจากประเทศที่ยังคุมการระบาดไม่ได้
แล้วเมื่อไหร่ที่ทุกประเทศทั่วโลกจะคุมการระบาดได้
แล้วเมื่อไหร่ที่วัคซีนจะถูกแจกจ่ายให้ทุกคน
แล้วเมื่อไหร่ที่เรามั่นใจในการเดินทางไปทั่วโลกได้เหมือนเดิม
สุดท้ายแล้ววันนั้นจะเกิดขึ้น
แต่ถ้ามันลากยาว ก็ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปสำหรับหลายคนไปแล้ว..
ไม่ต้องเถียงกันว่าเราจะเจอสภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่
คำว่า Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือการที่ GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส
ซึ่งแน่นอนว่าเราจะเจอแน่ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ปี 2020
แต่สำหรับคำต่อไปจาก Recession ก็คือ Great Depression..
Great Depression เป็นคำที่ใช้เรียกภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรงในช่วงปี ค.ศ. 1930 ซึ่งในตอนนั้นกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาที่จุดเดิมได้ก็ใช้เวลาหลายปี
เหตุการณ์ในตอนนั้นเริ่มจากตลาดหุ้นตกแบบรุนแรงในเดือนตุลาคม 1929 คล้าย เหตุการณ์ในเดือนมีนาคม 2020
และในช่วง 3 ปี ต่อจากนั้น GDP ทั่วโลกลดลง 15% หลังจากนั้นการว่างงานเพิ่มขึ้น ผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ถ้าในตอนนั้นเดินไปตามท้องถนนในสหรัฐอเมริกาจะมี 1 ใน 5 คนที่ไม่มีงานทำ
เมื่อผู้คนตกงานจะพบกับอะไร?
คนตกงานจะขาดรายได้ ใช้เงินเก็บที่มีอยู่
และเมื่อเงินเก็บหมด คนเหล่านั้นจะไม่มีกำลังซื้อของมาบริโภค และต้องไปขอรับสวัสดิการของรัฐ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นในปัจจุบัน
และเมื่อผู้คนเริ่มกังวลว่าเงินเก็บจะไม่พอใช้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรกก็คือ “การเลื่อนซื้อของใหญ่”
ของใหญ่ในที่นี้หมายถึงของที่มีราคาสูง ซึ่งถ้าไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร สามารถถูกเลื่อนซื้อออกไปก่อนได้
ตัวอย่างของใหญ่เหล่านี้จะประกอบไปด้วย บ้าน คอนโด รถยนต์ หรือแม้แต่กระเป๋าแบรนด์เนม.. เราอยู่บ้านหลังเดิม คอนโดหลังเดิม ขับรถคันเดิม ใช้กระเป๋าใบเดิม คงไม่เป็นไร เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่รออยู่ตรงหน้า
ดังนั้น นอกจากธุรกิจภาคบริการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากผู้คนไม่เดินทาง ก็คือ สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าแล้ว ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบลำดับต่อมาก็คือ
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์ และ ธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือย
สำหรับบริษัทที่มีเงินสดมากไว้รองรับช่วงเวลาแบบนี้ไปได้อีกสัก 1 ปี ก็คงไม่เป็นไร
แต่สำหรับบริษัทที่มีฐานะการเงินตึงๆมาตลอดเวลา สร้างหนี้ที่ระดับสูงสุดเพื่อผลกำไรสูงสุด บริษัทเหล่านี้จะพบกับอุปสรรคที่ไม่เคยเจอมาก่อน จนไม่แน่ใจว่าวิกฤติครั้งนี้ หรือวิกฤติต้มยำกุ้งจะรุนแรงกว่ากัน..
และด้วยจำนวนพนักงานในภาคบริการถือว่ามีสัดส่วนสูงมากในระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้นอัตราการว่างงานทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในตอนนี้จะมีหลายบริษัทที่มีเงินสดพอจ่ายพนักงานได้ไม่เกิน 3 เดือน เราอาจได้เห็นบริษัทในภาคบริการ ทยอยปิดตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน
และนี่ก็เป็นสาเหตุให้รัฐบาลทั่วโลกต่างพากันรีบแจกเงินให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้
สำหรับรัฐบาลไทยถือว่าทำได้เร็ว จะว่าไปประเทศไทยโชคดี เพราะมีประสบการณ์จากการแจกเงินในโครงการ ชิมช้อปใช้ มาแล้ว
ทำให้การลงทะเบียนและจ่ายเงินชดเชยรายได้คราวนี้ทำได้รวดเร็วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้วางรากฐานมาก่อนหน้านี้ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกอาจจะยังไม่มีความสามารถทำระบบได้แบบนี้เลยด้วยซ้ำ
ลองคิดดูเล่นๆถ้าโรคระบาดเกิดขึ้นเร็วกว่านี้สัก 5 ปี ในวันนั้นประเทศไทยยังไม่มีระบบการจ่ายเงินระหว่างภาครัฐกับประชาชน
ในตอนนั้นระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมประชาชนเท่านี้ ถ้าให้คนต้องมากรอกแบบฟอร์ม รอโอนเงิน มันคงจะทุลักทุเล และคงมีเงินรั่วไหลเป็นแน่
ซึ่งนี่อาจจะเป็นเรื่องโชคดีของการที่โคโรนาไวรัสมาเกิดในปี 2020 ปีที่ระบบการแจกเงินของรัฐบาลไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่ง
และก็น่าจะเป็นโชคดีชั้นที่ 2 ที่ไทยเคยเจอกับวิกฤติต้มยำกุ้งมาก่อน และเราคนไทยเข็ดหลาบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลในแต่ละยุคไม่กล้าสร้างหนี้สาธารณะมาก เพราะเมื่อไหร่ที่ก่อหนี้ก็จะมีฝ่ายตรงข้ามเอาประเด็นนี้มาโจมตี
ปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 41% ของ GDP ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วทั่วไป
สหรัฐอเมริกา มีหนี้สาธารณะ 107% ของ GDP
ญี่ปุ่น มีหนี้สาธารณะ 238% ของ GDP
ฝรั่งเศส มีหนี้สาธารณะ 98% ของ GDP
ซึ่งนี่อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะใช้กระสุนที่มีอยู่เพื่อพยุงสถานการณ์นี้
เพราะลำพังการใช้นโยบายการเงิน หรือ อัตราดอกเบี้ยต่ำ คงไม่เพียงพอ เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายก็อยู่ในระดับที่ 0.75% ซึ่งต่ำสุดในประวัติศาสตร์แล้ว
การใช้นโยบายการคลังมีมาตรการ และงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ถูกจุด และให้แรงเพียงพอเป็นสิ่งที่ควรทำในเวลานี้
และสำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ ที่เราจะได้เจอในลำดับถัดไปก็คือ
“เงินเฟ้อจะติดลบ” หรือในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เงินฝืด
อะไรคือเงินเฟ้อติดลบ?
เงินเฟ้อติดลบ คือ ราคาสินค้าบริการ โดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจจะมีราคาที่ต่ำลง
ซึ่งปัจจัยที่ช่วยดึงราคาให้ต่ำลงอยู่ 2 ประการก็คือ
1.ต้นทุนของผู้ผลิตลดลง จากราคาน้ำมันที่ต่ำลงเป็นอย่างมาก และน้ำมันเป็นต้นทุนทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อต้นทุนของผู้ผลิตลดลง ผู้ขายย่อมมีช่องว่างในการลดราคาลงมาได้
2.ดีมานด์ความต้องการสินค้าลดลง จากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ซื้อในระบบเศรษฐกิจน้อยลง ถ้าผู้ขายมีจำนวนเท่าเดิม ก็แปลว่าจะต้องแย่งกันลดราคาเพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อซื้อสินค้า ดังนั้นเราจะได้เห็นโปรโมชันลดแลกแจกแถม จากผู้ขายสินค้าในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน จนกว่าจะมีผู้ขายที่ทนไม่ไหวและออกไปจากระบบ ราคาสินค้าถึงจะไม่ลดลง
ดูเหมือนว่าคำว่าราคาสินค้าต่ำลง หรือเงินเฟ้อติดลบ จะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค
แต่ถ้าในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว เรื่องนี้จะไม่ค่อยดีนัก
เพราะคำว่าเงินเฟ้อติดลบ หมายถึงมูลค่าของเงินสดจะเพิ่มขึ้นตามเวลา สวนทางกับความเชื่อในอดีตว่ามูลค่าของเงินสดจะด้อยค่าตามเวลา
ดังนั้นผู้คนจะต่างพากันถือเงินสด เลื่อนการลงทุน เลื่อนการใช้จ่าย และพอเป็นแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจก็จะวนลูปไปในทิศทางที่แย่ลง
ดังนั้นดูเหมือนว่าช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของผู้คนทั่วโลก
ทุกวันที่ผ่านไป จะมีบุคคลและบริษัทที่อยู่ไม่ไหวมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ
ยิ่งปล่อยให้นานไป เศรษฐกิจก็จะดำดิ่งลงมากขึ้นเท่านั้น
เรากำลังอยู่ในยุคที่คาดเดาได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น
อย่าว่าแต่ปีหน้า
ในเดือนข้างหน้าเรายังไม่รู้เลยว่าธุรกิจของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร
2 เดือนที่แล้ว เราคิดว่าแค่นักท่องเที่ยวจีนหาย กระทบเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่รับคนจีน
1 เดือนที่แล้ว เราคิดว่านักท่องเที่ยวจากทั่วเอเชียจะหายหมด เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน
ตอนนี้ อย่าว่าแต่นักท่องเที่ยวทั่วโลกหายหมด แต่กลายเป็น ทุกธุรกิจทั่วโลกหยุดชะงักหมด แม้แต่ประเทศอินเดียที่ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะเกี่ยวอะไรด้วย
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ใหม่ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมี GDP -5.3% จากเดิม 2.8%
ทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยกล้าทำตัวเลขให้ลดลงจากเดิม 8.1%
คำตอบนี้ทุกคนคงรู้ว่าสภาพเป็นอย่างไร
แต่ที่ทุกคนคงไม่รู้คือ
1 เดือนข้างหน้า
2 เดือนข้างหน้า
และปีหน้า
จะมีอะไรเกิดขึ้น?
เรื่องทั้งหมดกำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วแบบที่คาดเดาได้ยาก
และกว่าจะรู้ตัวอีกที
เราก็อาจอยู่ใน Great Depression แล้ว..