นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมตรวจสอบและแก้ไขระบบไฟฟ้าโดยละเอียดเพื่อความแข็งแรงของโครงข่าย ระบบไฟฟ้า สำหรับระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (Big Patrolling and Cleansing for Strong Grid) โดยมีนายสาคร พยัคฆเรือง รองผู้ว่าการปฏิบัติการและบำรุงรักษา PEA กล่าวรายงาน
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวกำหนด kick off พร้อมกันในพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 12 เขตทั่วประเทศ ดังนี้
ภาคเหนือ : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 (ภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดพิษณุโลก การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคจังหวัดสิงห์บุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดอุบลราชธานี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดนครราชสีมา
ภาคกลาง : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครังสิต จังหวัดปทุมธานี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 (ภาคกลาง) จังหวัดชลบุรี การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ภาคใต้ : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดราชบุรี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 (ภาคใต้) จังหวัดนครศรีธรรมราช การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคจังหวัดยะลา
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพและความมั่นคงในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ปัจจุบัน ระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้ามีความยาวรวมมากกว่า 310,000 วงจร-กิโลเมตรและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากกว่า 99% ของประเทศไทย นำพลังงานไฟฟ้าไปสู่ธุรกิจ อุตสาหกรรมและส่งมอบความสุขให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้น กรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ) การวางแผนตรวจสอบและการบำรุงรักษาที่ดีจะส่งผลให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง มีประสิทธิภาพในการจ่ายไฟฟ้าสูงสุด ลดปัญหาการเกิดไฟฟ้าขัดข้องในระหว่างการจ่ายไฟฟ้า
การดำเนินงาน Patrol หรือ การลาดตระเวนตรวจสอบระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้า เป็นภาระหน้าที่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการตามแผนงานเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบหาความผิดปกติของระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้า ก่อนที่จะมี การชำรุดและส่งผลให้ไฟฟ้าขัดข้อง เป็นการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ Strong Grid ตามนโยบายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ต้องการพัฒนาคุณภาพไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เชื่อถือได้และเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
ขั้นตอนการดำเนินงาน ประกอบด้วย การตรวจสอบระบบจำหน่ายเพื่อการบำรุงรักษา แก้ไขป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิด ไฟฟ้าขัดข้อง โดย Patrolman ที่มีความรู้ความชำนาญและใช้อุปกรณ์ในการช่วยตรวจสอบได้ อาทิ กล้องส่องทางไกล กล้องถ่ายรูป กล้องส่องจุดร้อน (Thermal Viewer) กล้องตรวจสอบโคโรน่าและกล้องติดอากาศยานไร้คนขับ (Drone) จากนั้น นำผลการตรวจสอบมาออกแบบแก้ไขระบบไฟฟ้า โดยพิจารณาจากความเร่งด่วนของปัญหาที่พบ สรุปหาสาเหตุ การชำรุดของอุปกรณ์หรือสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นและหาแนวทางป้องกัน เพื่อลดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง
ประโยชน์ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับ
คุณภาพระบบไฟฟ้าที่มีความมั่นคง เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพในการจ่ายไฟฟ้า สร้างความพึงพอใจให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว
ป้องกันอันตรายจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ประโยชน์ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับ
สถิติไฟฟ้าขัดข้องเนื่องจากต้นไม้และอุปกรณ์ลดลง
เพิ่มความเชื่อได้ในการจ่ายไฟฟ้าผ่านระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ปฏิบัติงานด้านบำรุงรักษาตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบระบบไฟฟ้า (Patrolling) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
แผนการดำเนินงาน
ระยะที่ 1 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขทุกวงจรของการไฟฟ้าเมืองใหญ่และวงจรที่มีสถิติ การทำงานของอุปกรณ์ป้องกันสูง 5 อันดับแรกในทุกเขต มีเป้าหมายตรวจสอบและแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2559
ระยะที่ 2 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขวงจรที่เหลือทั้งหมดของทุกเขตให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559
ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะมีการประเมินผลการดำเนินงานในเดือนกรกฎาคม 2559 และเดือนมกราคม 2560
เป้าหมายของโครงการ หลังดำเนินการแล้วเสร็จ คือ ค่าสถิติการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันเฉลี่ยทั้งประเทศ มีการทำงานลดลงไม่น้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับสถิติของปี 2558 ในช่วงเวลาเดียวกัน
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสร้างความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าเพื่อผู้ใช้ไฟฟ้าและพร้อมก้าวไปสู่การเป็น "การไฟฟ้าแห่งอนาคต" (The Electric Utility of the Future) นึกถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร. 1129 PEA Call Center ตลอด 24 ชั่วโมง