สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่อาจทราบได้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยุติเมื่อใด แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายนั้นคือการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าการสัมผัสเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ก็ช่วยให้เราขยับห่างไกลจากโรคมากขึ้นอีกนิดได้
กฟผ. จึงมีการผลิตเจลแอลกอฮอล์ในชื่อว่า “เจลอนามัย น้ำใจ กฟผ.” ซึ่งมีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถช่วยยับยั้งและฆ่าเชื้อโรคได้ โดยมีเป้าหมายผลิตเจลอนามัยฯ บรรจุขวดเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ชุมชนโดยรอบ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 40,000 ขวด หวังกระตุ้นให้ทุก ๆ คน หมั่นดูแลใส่ใจในสุขภาพอนามัยของตนเอง
ในการผลิตเจลอนามัยฯ นอกจากจะต้องมีการควบคุมตั้งแต่ส่วนผสมและกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานแล้ว กฟผ. ยังคำนึงถึงความต้องการที่จะนำไปใช้งานในช่วงเวลาของการระบาดของโรค ดังนั้น ขั้นตอนในการบรรจุอย่างรวดเร็วจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้ปฏิบัติงานฝ่ายโรงงานและอะไหล่ (อรอ.) ได้ระดมสมองร่วมกันคิดค้นออกแบบ และประดิษฐ์เครื่องบรรจุเจลแอลกอฮอล์ โดยใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น
ผู้ปฏิบัติงาน อรอ. ได้ร่วมกันออกแบบและประดิษฐ์เครื่องบรรจุเจลแอลกอฮอล์ จำนวน 2 เครื่อง โดยเครื่องแรกมี 1 Header และเดินหัวจ่ายที่ทำจากสแตนเลสต่อจาก Header จำนวน 20 หัวจ่าย แบ่งเป็น 2 ด้าน ๆ ละ 10 หัวจ่าย ทำให้มีความสามารถในการบรรจุเจลแอลกอฮอล์ได้ 20 ขวดต่อนาที (ขวดขนาด 180 ซีซี) อย่างไรก็ตาม เครื่องบรรจุเจลแอลกอฮอล์เครื่องแรกยังมีข้อจำกัดอยู่ที่จะต้องใช้งานพร้อมกันทั้ง 20 หัวจ่าย ถ้าหัวจ่ายข้างใดเกิดขัดข้อง ไม่สามารถใช้งานได้ ก็จะต้องหยุดเดินเครื่องทั้งหมด
สำหรับเครื่องบรรจุเจลแอลกอฮอล์เครื่องที่ 2 ได้ทำการปรับปรุงการใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดของเครื่องแรก โดยเพิ่มเป็น 2 Header และเปลี่ยนเป็นหัวจ่ายที่ทำจากท่อ PVC ซึ่งทำให้สามารถบรรจุเจลแอลกอฮอล์ได้ประมาณ 80 ขวดต่อนาที ในขวดขนาด 180 ซีซี และประมาณ 120 ขวดต่อนาที ในขวดขนาด 100 ซีซี เนื่องจากสามารถควบคุมเครื่องได้อย่างสะดวกมากขึ้นส่วนทางด้านต้นทุนในการประดิษฐ์เครื่องบรรจุเจลแอลกอฮอล์นั้น มีราคาไม่แพง โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทเท่านั้น เพราะวัสดุส่วนหนึ่งมีอยู่แล้วภายในหน่วยงาน ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม เช่น ชิ้นส่วนโลหะที่เป็นเหล็ก และสแตนเลส เป็นต้น
นวัตกรรมทางสังคมที่รังสรรค์ได้จากความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ผนวกกับการนำวัสดุและอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วภายในหน่วยงาน มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนทำให้ “เจลอนามัย น้ำใจ กฟผ.” สามารถบรรจุลงขวดได้เสร็จสรรพ พร้อมนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ชุมชนโดยรอบ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นับเป็นการช่วยเหลือสังคมได้ในยามคับขันที่เกิดการขาดแคลนเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างทันท่วงที