นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเชิงรุกในการจัดการการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้กำหนดยุทธศาสตร์“1 จังหวัด-1 แล็บ-100 ห้องปฏิบัติการ” เพื่อเร่งตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ตามแนวทางการปรับเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค เพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้เร็วและมากที่สุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เร่งทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ การตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 เพิ่มขึ้นอีก 30 แห่งทั่วประเทศ เมื่อรวมกับห้องปฏิบัติการเดิมที่ผ่านการรับรองแล้วจำนวน 80 แห่ง ทำให้ในเดือนเมษายนนี้จะมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 รวม 110 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ รองรับความสามารถในการตรวจสูงสุดถึง 20,000 ตัวอย่างต่อวัน คือ ในกรุงเทพฯ 10,000 ตัวอย่าง และ ในภูมิภาค 10,000 ตัวอย่างต่อวัน (ภูมิภาค 835 ตัวอย่าง/เขตสุขภาพ)
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังระบุว่า จากการประชุมคณะทำงานด้านภารกิจการจัดการห้องปฏิบัติการ โดยมีกรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเครือข่าย เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อวางมาตรฐานสนับสนุนกระบวนการการตรวจหาเชื้อและเชื่อมข้อมูลระบบรายงานผลให้รายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ยกระดับการทำงานให้เกิดความรวดเร็ว ทั้งขั้นตอนการออกรหัสการตรวจที่จะปรับไปในรูปแบบออนไลน์ การจับคู่ห้องปฏิบัติการกับโรงพยาบาลต้นสังกัดเพื่อให้การรับส่งเชื้อในการตรวจรวดเร็ว ตลอดจนการรายงานผลที่เชื่อมโยงกับกรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลที่ส่งตรวจ รวมทั้งระบบ E-claim ที่ดูแลด้านการเบิกจ่ายงบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูลและช่วยให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ไปพร้อมกันทำให้การวางแผนการจัดการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“วันนี้ยังคงยืนยันวิธีการตรวจที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR เนื่องจากมีความไว ความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 3 – 5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสปริมาณน้อย ๆ ทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตายในรูปแบบของสารพันธุกรรม และขณะนี้มีนวัตกรรมเครื่องมือตรวจใหม่ๆที่นำมาใช้ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบำราศนราดูรของกรมควบคุมโรคได้มีเครื่องดังกล่าวไว้ใช้งานแล้ว และการที่มีห้องปฏิบัติการหนึ่งแห่ง หนึ่งจังหวัดจะยิ่งเสริมการตรวจหาเชื้อได้ดีและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”