นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กำลังตรวจสอบความถูกต้องของทะเบียนเกษตรกรตามที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการ เพื่อจะประสานกระทรวงการคลัง กรณีมีการมอบเงินเยียวยาให้เกษตรกร โดยปี 2562 มีผู้มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรประมาณ 7.5 ล้านครัวเรือน สถานภาพในทะเบียนเกษตรกรจะมีอายุ 3 ปี ดังนั้น หากเกษตรกรที่ไม่ได้ปรับปรุงทะเบียนการเพาะปลูกปีที่แล้ว จะย้อนหลังถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ขณะนี้จัดส่งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลเกษตรกรให้ตรงกับข้อมูลบุคคลของกรมการปกครอง ตรวจสอบข้อมูลเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้ตรงกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และตรงกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นอกจากนี้ จะติดประกาศข้อมูลในชุมชนเพื่อตรวจสอบทางสังคม หากแจ้งข้อมูลเท็จ ประชาชนในพื้นที่แจ้งคัดค้านได้ มีคณะทำงานระดับหมู่บ้านตรวจสอบพื้นที่วัดพิกัดที่ตั้งแปลง - วัดพื้นที่ วาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลเพื่อป้องกันการขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนซึ่งดำเนินการแล้ว 10 ล้านแปลง
ทั้งนี้ ทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) คือ ข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตรที่แสดงถึงสถานภาพและการประกอบอาชีพการเกษตรของครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรต้องมายื่นแบบ ทบก.01 ที่สำนักงานเกษตรอำเภอจะสามารถเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือและได้รับสิทธิ์ต่างๆ ตามมาตรการของรัฐ ทุกรอบการผลิตจะต้องปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ครัวเรือนเกษตรกร 1 ครัวเรือน ขอขึ้นทะเบียนได้ 1 คน โดยยื่นแบบ ทบก. 01 หลังปลูกพืช 15 วัน
หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตรเช่น เปลี่ยน / แก้ไข กิจกรรมการเกษตร หรือสมาชิกในครัวเรือนต้องมาปรับปรุงทะเบียน โดยเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล ติดประกาศในชุมชน 3 วัน เมื่อยืนยันข้อมูลในระบบแล้วการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจึงเสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้ อำนวยความสะดวกช่วงการระบาดของโควิด-19 จึงให้ยื่นที่ผู้นำชุมชนหรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เพื่อส่งสำนักงานเกษตรดำเนินการต่อไป ดาวน์โหลด แบบ ทบก.01 ได้ที่ http://farmer.doae.go.th/farmerforn63-h.pdf ส่วนแอปพลิเคชัน FARMBOOK ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่และแปลงใหม่ได้
สำหรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรนั้น จะขึ้นทะเบียนเฉพาะบุคคลในครัวเรือนคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนที่ประกอบการเกษตร แต่ฐานทะเบียนเกษตรกรกำหนดให้ 1 ทะเบียนบ้านเท่ากับ 1 ครัวเรือน ประกอบอาชีพทํานาหรือทําไร่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันบนเนื้อที่ 1 ไร่ขึ้นไป ปลูกผัก หรือปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือเพาะเห็ด หรือปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันบนเนื้อที่ 1 งานขึ้นไป ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น หรือปลูกสวนป่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกัน บนเนื้อที่ 1 ไร่และมี 15 ต้นขึ้นไป ปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันบนเนื้อที่ 1 ไร่ และมีตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป
ด้านปศุสัตว์ เกษตรกรขึ้นทะเบียนได้เมื่อเลี้ยงแม่โคนม 1 ตัวขึ้นไป เลี้ยงโคหรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน 2 ตัวขึ้นไป เลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน เลี้ยงสัตว์ปีก 50 ตัวขึ้นไป เลี้ยงสัตว์น้ำ หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน การทํานาเกลือสมุทรบนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป ปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน เพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่นๆ ได้แก่ เลี้ยงผึ้งพันธุ์ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคูไส้เดือนดินชีวภัณฑ์และอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ประกอบการเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันและมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทต่อปีขึ้นไป
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูล 9 หมวด ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน สมาชิกครัวเรือนและการเป็นสมาชิกองค์กร การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร การประกอบกิจกรรมการเกษตร แหล่งน้ำ เครื่องจักรกลการเกษตร หนี้สิน รายได้ การเข้าร่วมโครงการภาครัฐ สถานภาพในทะเบียนเกษตรกรสิ้นสุดลงเมื่อเสียชีวิต เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ แจ้งยกเลิกประกอบการเกษตร ไม่ปรับปรุงสถานภาพเลยติดต่อกัน 3 ปี หรือแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งยังถือเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 137 และ มาตรา 267 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละโครงการ โดยสามารถตรวจสอบสถานะหัวหน้าและสมาชิกครัวเรือนเกษตรได้ที่ http://farmer.doae.go.th/ หมายเลขโทรศัพท์ 02-579-5519