โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
คนป่วยแห่งเอเชีย
ในยุคล่าอาณานิคมช่วงปลายศตวรรษที่19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศจีนถูกมหาอำนาจตะวันตกเอา “ฝิ่น”เข้าไปขายกลายเป็นยาเสพติดที่มอมเมาคนจีนไปอย่างกว้างขวางในยุคนั้น แม้จีนจะพยายามต่อต้านแต่ก็มีการตีโต้กลับจนกลายเป็น “สงครามฝิ่น” ถึง 2 ครั้ง ที่จีนต้องพ่ายแพ้
การพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับชาติตะวันตก ทำให้จีนยุคนั้นถูกบังคับเซ็นสัญญาที่เสียเปรียบ เหล่าชาตินักล่าอาณานิคมได้พากันเข้าไปกดขี่ ขูดรีด กอบโกยเอาทรัพยากรและผลประโยชน์ต่างๆ ไปจากจีน แต่ที่เลวร้ายคือ การนำฝิ่นเข้าไปขายในปริมาณที่มากยิ่งขึ้น จนปรากฏภาพคนจีนตัวผอมซีดนอนสูบฝิ่นกันทั่วเมือง อันเป็นที่มาของการเรียกคนจีนอย่างดูถูกเหยียดหยามว่า “คนป่วยแห่งเอเชีย” (Sick Man of Asia)
แม้จะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่คำๆ นี้ก็ยังถูกคนชาติตะวันตกใช้เรียกจีนมาเป็นระยะในยามที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเรียกขานในเชิงดูหมิ่น ดังกรณีล่าสุดที่สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ได้ลงบทความชิ้นหนึ่งที่พาดหัวใหญ่ว่า “จีนคือคนป่วยตัวจริงของเอเชีย” เขียนโดย วอลเตอร์ รัสเซลล์ มี๊ด อาจารย์มหาวิทยาลัยบาร์คคอลเลจ
เนื้อหาในบทความให้ความสำคัญต่อโรค COVID-19 ในจีนช่วงเริ่มแพร่ระบาดและกำลังลามไปสู่อีกหลายประเทศ โดยผู้เขียนวิจารณ์ว่า รัฐบาลท้องถิ่นอู่ฮั่นพยายามปกปิดความจริง ส่วนรัฐบาลกลางของจีนก็ทำงานแบบไม่มีประสิทธิภาพ
ถ้าวิจารณ์แบบตรงไปตรงมาคงไม่มีปฏิกริยารุนแรงจากรัฐบาลจีน แต่เพราะการพาดหัวบทความในเชิงเหยียดเชื้อชาติมีผลให้ทางปักกิ่งใช้มาตรการแรงด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าว 3 คน ของThe Wall Street Journal ประจำกรุงปักกิ่ง
นักวิชาการชาวอเมริกันคนหนึ่งมองว่า จีนยังเป็นคนป่วย แต่นักวิชาการอเมริกันอีกคนหนึ่งชื่อ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ เบย์นาร์ต ภาควิชาสารนิเทศ มหาวิทยาลัยแห่งนิวยอร์ค(CUNY) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ผลลัพธ์ที่เลวร้ายจากนโยบายไม่เอาจีนของทรัมป์”ว่า บทเรียนของ COVID-19 บอกให้รู้ว่า อเมริกาควรพัฒนาความร่วมมือกับจีนในด้านสาธารณสุข ซึ่งถูกทำลายลงในสมัยรัฐบาลทรัมป์
ผู้เขียนระบุว่า ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ได้มีการตัดงบประมาณด้านสาธารณสุขไปแล้วกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ ไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาด ลดการลงทุนด้านการป้องกันโรค ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานศูนย์ป้องกันและควบคุมโลก แถมยังลดเงินช่วยเหลือต่อ “องค์การอนามัยโลก”
วันนี้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันหวังจะเรียนรู้ว่า “จีนต่อต้านCOVID-19ได้อย่างไร?” และภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โรงงานของจีนคือ “คลังยุทโธปกรณ์ด้านสาธณสุข” ที่สำคัญของโลก
นี่คือสองความเห็นที่ต่างกันของนักวิชาการชาวอเมริกันในมุมมองด้านสาธารณสุขของจีน
สำหรับในโลกแห่งความเป็นจริง ถึงวันนี้ประเทศแถบยุโรปมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศอิตาลีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าแสนคน เสียชีวิตในระดับ 2 หมื่นคน แจ้งว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่ประเทศอังกฤษ ชาตินักล่าอาณานิคมเก่า วันนี้ยอดผู้เสียชีวิตน่าจะมากกว่า 3,000 คน และอาจจะแซงจีนไปแล้ว
ส่วนสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นหน้าเป็นอันดับ 1 ด้วยยอดผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 แสนคน เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คน โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าชาวอเมริกันที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนมากกว่าผู้สูงอายุ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศว่า อเมริกาอาจต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียครั้งใหญ่ในเดือนเมษายนนี้ จากการแพร่ระบาดอันรุนแรงของ COVID-19 ที่อาจจะส่งผลให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตสูงมากในระดับ 100,000- 240,000 คน จึงต้องขยายเวลามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้
วันนี้ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ที่เคยเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดเมื่อต้นปี ผู้ป่วยหญิงอายุ 101 ปี ผู้ป่วยชายอายุ 103 ปี ได้รับการรักษาจนหายและกลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติสุขอยู่กับลูก-หลาน-เหลนแล้ว พร้อมๆ กับครอบครัวอื่นที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
เมื่อตอนต้นปีจีนพบการแพร่ระบาด COVID-19 มากที่สุด ยอดผู้ติดเชื้อขึ้นถึงระดับ 81,554 คน เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน แต่ในเวลาเพียง 3 เดือน จีนสามารถควบคุมไวรัสได้นิ่งเกือบสนิท บางวันแทบไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ตอนนี้มีผู้ที่หายป่วยแล้วมากกว่า 76,000 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ถึง 2,000 คน และเชื่อว่าภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ผู้ป่วยจาก COVID-19 จะหมดจากโรงพยาบาล