กฟผ. เป็นเจ้าภาพจัดประชุม Power Utility Summit ครั้งที่ 3 องค์กรกิจการไฟฟ้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมแลกเปลี่ยนสู่การพัฒนาระบบไฟฟ้าท่ามกลางความท้าทายในอนาคต ชาติสมาชิกเห็นพ้องพัฒนาโรงไฟฟ้าคู่ระบบส่ง รองรับโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม Power Utility Summit ครั้งที่ 3 ซึ่ง กฟผ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ว่า การประชุมนี้มีองค์กรสมาชิกจาก 6 ประเทศ ประกอบด้วย การไฟฟ้ากัมพูชา (Electricite Du Cambodge: EDC) บริษัทไชน่า เซาท์เทิร์น เพาเวอร์ กริด (China Southern Power Grid Company Limited: CSG) จากประเทศจีน การไฟฟ้าลาว (Electricite Du Laos: EDL) กระทรวงการไฟฟ้าและพลังงานแห่งเมียนมา (Ministry of Electric Power and Energy: MOEE) การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) และ กฟผ. จากประเทศไทย โดยเป็นการหารือบนพื้นฐานของความเท่าเทียม เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ
อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานและเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
การประชุมนี้ สืบเนื่องจากการประชุม องค์กรสมาชิกได้มีถ้อยแถลงร่วมกันว่า สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบไฟฟ้า คือ การพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพควบคู่กับการพัฒนาระบบส่ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ให้มีศักยภาพในการรองรับพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักและพลังงานหมุนเวียนในอนาคต นอกจากนี้ องค์กรสมาชิกยังเห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์
ซึ่งกฟผ.มีความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรด้านกิจการไฟฟ้าจากทั้ง 6 ประเทศ ผ่านโครงการซื้อ - ขายพลังงานไฟฟ้า และความร่วมมือด้านเทคนิคและวิชาการต่างๆ เช่น การไฟฟ้าลาว ที่ปัจจุบันมีการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. จากโครงการต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเทินหินบุน โรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยเฮาะ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำเทิน 2 โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา
นอกจากนี้ กฟผ. กับการไฟฟ้าลาวยังได้ร่วมกันศึกษาศักยภาพในการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต
ด้านการไฟฟ้ากัมพูชา ปัจจุบัน กฟผ. มีการส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังบริเวณปอยเปต ประเทศกัมพูชา รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการศึกษาด้านเทคนิคในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ IPP และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม ในประเทศกัมพูชา มายังประเทศไทย เป็นต้น
ในส่วนของกิจการไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ ก็มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดผ่านเวทีการประชุมระดับผู้นำสูงสุดการไฟฟ้าภูมิภาคอาเซียน (HAPUA Council) และกรอบความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาค (Regional Power Trade Coordination Committee: RPTCC) ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้นำมาสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์ที่จะทำให้การพัฒนาระบบไฟฟ้าของภูมิภาคมีความมั่นคงเชื่อถือได้ ในราคาที่สมเหตุผล