กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ โวย มติ ครม.ดึงงบบัตรทอง 2,400 ล้านบาทคืนมาจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ข้องใจหั่นงบรักษาพยาบาลประชาชนช่วงวิกฤติโรคระบาดวิด-19 ทั้งที่ควรจะเพิ่มให้ด้วยซ้ำ หวั่นกระทบ สร้างภาระการเงิน รพ. ทั่วประเทศ
กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา ในการประชุมพิจารณาเรื่อง การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยในส่วนของงบประมาณกองทุนหมุนเวียนได้มีมติตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืองบ “บัตรทอง” จำนวน 2,400 ล้านบาท นำไปตั้งเป็นงบสำรองฉุกเฉิน แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... นั้น
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ตามหลักการรัฐบาลไม่ควรตัดหรือดึงงบจากหน่วยงานต่างๆ คืน เพราะทุกแห่งต่างได้รับจัดสรรงบประมาณอย่างจำกัด ภายใต้เหตุผลและแผนดำเนินงานในแต่ละปี ที่สำคัญตามแนวทางดึงงบคืนนั้น ก็ระบุชัดว่าต้องไม่ส่งผลกระทบกับเงินในสัดส่วนที่ใช้สำหรับรัฐสวัสดิการ ดังนั้น การที่ ครม. มีมติตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นงบที่ใช้รักษาพยาบาลประชาชนไปถึง 2,400 ล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นการตัดลดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง ในส่วนของ “เงินค่าแรง” ซึ่งสัดส่วนที่จะหายไปคิดเป็นกว่า 40% เลยทีเดียว หากเป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ เมื่อได้เงินน้อยลงก็ยิ่งสร้างภาระด้านการเงิน และหากโรงพยาบาลไม่สามารถหางบเพิ่มเติม เพื่อบริหารจัดการภายในได้ ก็จะส่งผลต่อภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
“สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือใช้เงินจากงบกลาง หรืออาจใช้วิธีการกู้เงินเข้ามาเพิ่มเติม เพราะเป็นก้อนที่ไม่กระทบหรือมีภาระผูกพันกับการบริหารงานของหน่วยงานใดๆ ยิ่งภาวะการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ถือเป็นภาระหน้าที่หลักของโรงพยาบาล และหน่วยงานด้านสาธารณสุข จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมาตัดลด หรือดึงงบประมาณคืน เพราะจะยิ่งส่งผลกระทบกระเทือนต่องบประมาณบริหารงาน ที่ในภาวะปกติก็มีอยู่อย่างจำกัด และเงินทุกก้อนมีเหตุผลต้องใช้จ่าย ตามกรอบงบประมาณ ที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีอยู่แล้ว” นายนิมิตร์ กล่าว
ด้าน นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า มติ ครม. ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก แต่ในภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 และการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงการการแถลงข่าวจากศูนย์โควิด ทำให้ประชาชนไม่รับรู้ว่า ขณะนี้มีมติตัดลดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่วนตัวเมื่อทราบเรื่องค่อนข้างตกใจ เพราะถือเป็นกองทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษาพยาบาลคนไทย และในภาวะการแพร่ระบาดรุนแรงเช่นนี้ ไม่ควรถูกตัดลดงบประมาณลง กลับกันควรได้รับงบสนับสนุนเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้คาดว่าในการประชุม บอร์ด สปสช. ต้นเดือนหน้า น่าจะมีการหยิบยกประเด็นนี้ ขึ้นมาเข้าสู่วาระการหารือและสะท้อนกลับไปยังรัฐบาล เนื่องจากเงินที่ถูกตัดไปและนำไปกันเป็นงบฉุกเฉิน ก็ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่า เงินก้อนนี้จะถูกนำไปจัดสรรอย่างไร และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะได้รับกลับมาหรือไม่
“ค่อนข้างตกใจว่าทำไม ครม.ถึงมีมติดึงเงินรักษาพยาบาลประชาชนกลับคืนไปถึง 2,400 ล้านบาท เงินจำนวนนี้ถือว่าไม่น้อยเลย แทนที่ในฐานะกองทุนที่มีบทบาทรักษาพยาบาลผู้ป่วย กลับต้องได้รับจัดสรรหรืออุดหนุนงบประมาณเข้ามาเพิ่มเติมด้วยซ้ำ แต่นี่กลับถูกตัดลดงบประมาณลง และในสถานการณ์ที่ยังไม่มีวัคซีนรักษาโควิด-19 โดยตรง ในปีงบประมาณหน้าอาจต้องเพิ่มงบให้ด้วยซ้ำไป ไม่เฉพาะงบบัตรทองเท่านั้น แต่รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขด้วย ก็สมควรได้รับงบเพิ่มเติม เพื่อต่อสู้กับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้” นางสุนทรี กล่าว