นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในขณะนี้ โรงพยาบาลนับว่าเป็นสถานที่สำคัญ ทั้งในด้านการป้องกัน และด้านการรักษาพยาบาล ในส่วนของการป้องกันโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ต้องป้องกันมิให้ติดเชื้อจากผู้ป่วย ขณะเดียวกัน ต้องรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้เป็นปกติและกลับบ้านได้ ด้วยความสำคัญดังกล่าว กรมสนับสนุนบริการสุขภาพโดยกองวิศวกรรมการแพทย์ กองแบบแผน ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12 ร่วมกับสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย ได้จัดทำ แนวทางการปรับปรุงห้องพักสำหรับผู้ป่วย (COHORT WARD) รองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับโรงพยาบาลสามารถนำไปใช้ โดยยึด “ประหยัด ปลอดภัย ใช้งานได้จริง” สำหรับโรงพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศ เลือกนำไปใช้ โดยพิจารณาจากศักยภาพการให้บริการ โครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันและหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาร่วมกัน จากต้นทุนเดิมและศักยภาพของการให้บริการ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาล ที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญเน้นในเรื่องของระบบระบายอากาศ ซึ่งแบ่งออกได้ 3 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 ภายในห้องมีระบบปรับอากาศแบบ FRESH 100 % กรณีที่ 2 ห้องผู้ป่วยเดิมมีระบบปรับอากาศแบบติดผนังหรือแขวนใต้ฝ้าอยู่แล้ว สามารถใช้ได้ โดยให้ปรับตำแหน่งชุดควบคุมเครื่องปรับอากาศมาไว้บริเวณทางออกจากห้อง แล้วติดตั้งพัดลมดูดอากาศบริเวณหัวเตียงคนไข้เพิ่มเติม กรณีที่ 3 ติดตั้งระบบระบายอากาศอย่างเดียวบริเวณหัวเตียงคนไข้ ภายในห้องไม่มีระบบปรับอากาศนอกเหนือจากระบบระบายอากาศแล้ว กรณีจำเป็นต้องเตรียมการด้านสถานที่ การจัดห้องพักมีข้อแนะนำ ดังนี้ จัดพื้นที่ของผู้ป่วยแยกห่างออกไปจากพื้นที่ของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ ควรจัดวางตำแหน่งหัวเตียงผู้ป่วยให้มีระยะห่างระหว่างเตียงไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีม่านกั้นเตียงที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย วัสดุควรผลิตจากไนลอน 100 % ติดตั้งช่องรับ-ส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Pass Box) สำหรับผู้ป่วย ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด ระบบการสื่อสาร เพื่อติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วย มีระบบไฟฟ้าสำรอง และแสงสว่างที่เพียงพอ ควรมีพื้นที่สำหรับทิ้งสิ่งปนเปื้อน เครื่องป้องกันร่างกาย (PPE) ตามมาตรฐาน มีภาชนะรองรับมูลฝอยติดเชื้อสำหรับผู้ป่วย และน้ำยาล้างมือประจำทุกเตียง มีระบบน้ำเสีย เฝ้าระวัง ตรวจสอบการรั่วซึมของระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย และกระบวนการฆ่าเชื้อโรค โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำประจำวันในการฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยสู่ลำรางสาธารณะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมส่วนรวม