นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นหนังสือต่อนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการรัฐสภา เพื่อแสดงความจำนงในการนำรายชื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวน 209 คน เพื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในการหาทางออกเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 กำหนดให้การเปิดประชุมสมัยวิสามัญสามารถทำได้ 2 ทาง คือ 1. การให้ ครม. นำความขึ้นกราบบังคมทูลหรือ 2. ส.ส. และส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เข้าชื่อกันเพื่อขอเปิดประชุมสภาวิสามัญ ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านได้ไปแสดงความจำนงต่อรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายบริหารเปิดประชุมวิสามัญแต่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล มีความเห็นว่าการเปิดประชุมสมัยวิสามัญยังไม่มีความจำเป็น ดังนั้นฝ่ายค้านที่มีรายชื่ออยู่ในมือ 209 คน จึงต้องทำหนังสือถึงเลขาธิการรัฐสภา เพื่อขอให้สำนักงานเลขาสภาผู้แทนฯ เป็นตัวกลาง ในการให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล หรือส.ว. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดประชุมสมัยวิสามัญฯ มาลงชื่อร่วมกับฝ่ายค้าน
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกังวลของบางฝ่ายที่ว่าหากมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญฯ จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง เพราะส.ส.บางส่วนมาจากพื้นที่เสี่ยงนั้น ส่วนตัวคิดว่าในภาพรวมสภามีความพร้อมในการปฏิบัติให้ได้มาตรฐานการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งสภาก็ได้มีการจัดที่นั่งให้ ส.ส.ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแล้ว รวมทั้งจะมีการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดจึงคิดว่า จากการดำเนินการของสภาทำให้สามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง
นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สำหรับความจำเป็นที่จะต้องมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญฯ เป็นการเร่งด่วน เพราะ 1. รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน เป็นจำนวนเงินสูงสุดมากเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับการพิจารณาใช้เงินกู้นั้นมีแต่เพียงคณะกรรมการกลั่นกรองเท่านั้น จึงมีความจำเป็นที่รัฐสภาต้องเข้าไปร่วมตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน เช่นเดียวกับการตรา พ.ร.ก.ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่อาจจะมีการกำหนดให้รัฐบาลใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ ซึ่งอาจทำให้การใช้เงินกลายเป็นเบี้ยหัวแตก รวมไปถึงการตรา พ.ร.ก.ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งมีความกังวลว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะมีการเลือกปฏิบัติจนทำให้ไม่ได้มีการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
"นอกจากนี้ยังมีกรณีของพ.ร.ก.โอนงบประมาณ ที่ตามปฏิทินของสำนักงบประมาณ กำหนดให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวทั้ง 3 วาระภายในวันเดียว ในเมื่อรัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนแล้ว ทำไมถึงไม่เปิดประชุมสมัยวิสามัญฯ เพื่อให้รัฐสภาช่วยกันให้ความเห็นและตรวจสอบ ซึ่งตนคิดว่ารัฐบาลกำลังกลัวการถูกตรวจสอบมากกว่า"นายพิจารณ์ กล่าว