ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ที่เพิ่งสิ้นสุดไป สามารถดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ยกเว้นลุ่มเจ้าพระยาที่ต้องมีการจัดสรรน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยเหลือมากกว่าแผน 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากสิ้นฤดูฝนปีนี้ แหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ภาคกลางจะมีน้ำมากกว่าปี 2562 โดยช่วงต้นฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2563 ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุฤดูร้อน โดยมีการประเมินว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในช่วง 2 เดือนนี้ อีกประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำจำนวนนี้จะทำการสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค ในช่วงฝนทิ้งช่วงต่อไป
สำหรับเกษตรกรสามารถเริ่มเตรียมแปลงข้าวนาปีได้ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ ระหว่างวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2563 และจะเกิดภาวะฝนจะทิ้งช่วงประมาณปลายมิถุนายนต่อกรกฎาคม 2563 ซึ่งได้วางแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกักเก็บน้ำในช่วงต้นฤดูฝนไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะใช้ในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตามคาดว่าจะไม่กระทบต่อภาคการเกษตรมากนัก เนื่องจากข้าวนาปรังได้มีการเก็บเกี่ยวทั้งหมดแล้ว ส่วนข้าวนาปีความชื้นสัมพัทธ์ที่ยังคงมีในดินและอากาศ ข้าวจะไม่ขาดแคลนน้ำ และฝนจะเริ่มตกอีกครั้งประมาณในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายนจะมีพายุเข้า อาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยมีพื้นที่ๆ ต้องเฝ้าระวังคือ จังหวัดจันทบุรี ตราด เชียงใหม่ เชียงราย นครพนม อุบลราชธานี และบางส่วนของภาคกลาง ในส่วนพื้นที่ภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังในช่วง 1-2 เดือนนี้ คือ จังหวัดระนอง ชุมพร พังงา และสุราษฎร์ธานี