ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สธ.ให้กรองโควิด-19กับหวัดใหญ่-เลือดออกกันสับสนช่วงฝน
17 พ.ค. 2563

           นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังรัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการทางสังคมภาคบังคับ ทำให้กลุ่มกิจการต่างๆ สามารถเปิดให้บริการเพิ่มเติม อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฟิตเนส คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม เป็นต้น โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนคงมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขไว้ในการลดความเสี่ยงและการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ควรสนับสนุนให้คนทำงานที่บ้าน เหลื่อมเวลาทำงาน นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน เช่น ธุรกรรมออนไลน์ ประชุมทางไกล เป็นต้น ภาคประชาชนให้ยึดมาตรการระดับบุคคล เช่น กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ที่จะมีอาการรุนแรงควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการพบปะหรือชุมนุมและยังคงต้องป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข ยังคงเข้มมาตรการ ป้องกัน ควบคุม ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และนำเข้าสู่ระบบการรักษา นอกจากนี้ยังเฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และในกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคหวัดเป็นกลุ่มก้อนอย่างต่อเนื่อง

         นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน โรคที่พบได้บ่อย คือ โรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชน เนื่องจากทั้ง 2 โรค มีไข้เหมือนกับโรคโควิด 19 แต่โรคไข้เลือดออกจะมีไข้สูง ผื่นจุดสีแดง ขึ้นตามตัว มีความแตกต่างจากโรคโควิด 19 ส่วนไข้หวัดใหญ่จะมีคล้ายกับอาการโรคโควิด 19 คือ    มีไข้ มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ สิ่งที่สำคัญ คือการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยขอให้ประชาชนช่วยกันดูแล กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคไข้เลือดออก

           สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอาการคล้ายโรคโควิด 19 นั้น เพื่อให้แพทย์ผู้รักษาสามารถจำแนกได้ง่ายขึ้น ประชาชนไม่เกิดความสับสน ขอเชิญชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป   2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4.บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 7.ผู้ที่เป็นโรคอ้วน และบุคลากรทางการแพทย์ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

           “ส่วนข้อกังวลถ้าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรควิด 19 ได้ง่ายขึ้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นจะช่วยสร้างคุ้มภูมิกันร่างกาย ช่วยป้องกันโรค และลดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ได้” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...