พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยถึงมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ การประเมินการผ่อนคลายระยะที่ 1 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเป็นลำดับ รวมทั้งความร่วมมือของประชาชนทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก จึงทำให้สามารถผ่อนคลายในระยะที่ 2 ตามมา โดยได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 7 ซึ่งการผ่อนคลายในระยะที่ 2 จะเป็นกิจกรรมหรือกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดโรคอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่มีผลต่อเรื่องเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างสูง คือ ยอมให้ความมั่นคงด้านสาธารณสุขมีความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อผ่อนปรนให้การดำรงชีวิตมีความสะดวกสบายมากและเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในระยะที่ 2 3 หรือ 4 จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่จะมีการพิจารณาความเสี่ยงว่ายังอยู่ในความสามารถที่จะควบคุมได้ ประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขมีขีดความสามารถรองรับความเสี่ยงได้ หากพบว่ากิจการหรือกิจกรรมใดก่อให้เกิดการแพร่เชื้อไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 1 หรือ 2 ก็สามารถสั่งปิดได้ หรือเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้นได้เช่นกัน
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวถึงการเดินทางหลังจากวันที่ 17 พ.ค. 63 เป็นต้นไปว่า มาตรการบังคับใช้ควบคู่กับการผ่อนคลายระยะ2 ยังมี 3 มาตรการหลักได้แก่ 1. การเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ยังคงมีความเข้มข้นเช่นเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดจากการนำเชื้อเข้าจากต่างประเทศ และยังไม่อนุญาตให้เครื่องบินพาณิชย์เข้า 2. ปรับระยะเวลาเคอร์ฟิวและการออกนอกเคหสถานขยับออกไปอีก 1 ชั่วโมง เป็น 23:00 น. ถึง 04.00 น. และ 3. ให้ชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด ทั้งนี้ รัฐบาลเข้าใจความจำเป็นของประชาชนที่ต้องเดินทาง ซึ่งการเดินทางข้ามจังหวัดสามารถทำได้ หากมีความจำเป็นจริงๆ และเมื่อไปถึงปลายทางแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการจังหวัดนั้น ๆ พร้อมจะนำข้อเสนอให้ปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็นช่วงเวลา 23.00 - 03:00 น. เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางไปขายของที่ตลาดเช้าไปพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การพิจารณาปรับเวลาในระยะต่อ ๆ ไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังชี้แจงให้คลินิกทันตกรรมสามารถเปิดบริการ แต่อนุญาตให้คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สามารถเปิดได้กรณีการเสริมความงามเฉพาะเรือนร่างและผิวพรรณ ไม่รวมถึงการเสริมความงามบริเวณใบหน้านั้นว่า กรณีของการทำฟัน ทันตกรรม เป็นกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่ยังต้องมีมาตรการที่เข้มงวด สถานเสริมความงามให้ทำช่วงเรือนร่างที่ไม่ใช่ใบหน้า เพราะยังเป็นการกระทำที่เสี่ยงติดเชื้อจากดวงตา และบริเวณอื่น ๆ บนใบหน้า ที่สำคัญในทุก ๆ กิจกรรมจะมีมาตรการควบคุมการจำกัดการใช้เวลาให้น้อยที่สุด
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังเตือนไปยังร้านค้า ร้านอาหารที่ไม่มีมาตรการป้องกัน ไม่มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ หรือเว้นระยะห่างว่า จะมีหน่วยงานความมั่นคง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพฯหรือจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปตรวจสอบ หากพบความบกพร่อง ครั้งแรกจะทำการตักเตือน ถ้ามีครั้งต่อไปอาจจะต้องพิจารณาปิดเป็นจุด ๆ ไป เพราะพฤติกรรมเหล่านั้นอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคเป็นวงกว้างได้อีก