โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมท่าเรือติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน จ.เชียงราย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เนื้อที่ 402 ไร่ 1 งาน 27 ตาราง รัฐบาลใช้งบประมาณก่อสร้างมูลค่า 1,546.4 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อปี 2554 และท่าเรือพาณิชย์เชียงของ อ.เชียงของ ปัจจุบันพบว่า ท่าเรือที่ อ.เชียงแสน ยังคงมีการขนส่งสินค้าเพราะเป็น 1 ใน 3 ด่านพรมแดนด้าน จ.เชียงราย ที่อนุญาตให้เปิดเฉพาะเพื่อการขนส่งสินค้าในช่วงที่ประเทศต่างๆ มีการปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งไทย สปป.ลาว และจีนตอนใต้
โดยในปี 2662 มีการส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือเชียงแสนมูลค่า 11,681.92 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 583.80 ล้านบาท และปี 2563 จนถึงเดือน เม.ย.2563 มีการส่งออกแล้วมูลค่า 4,682.40 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 245 ล้านบาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่คือน้ำมันเชื้อเพลิง โคและกระบือมีชีวิต ขิ้นส่วนไก่แช่แข็ง ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่คือกระเทียมสด เมล็ดดอกทานตะวัน มันฝรั่ง ฯลฯ
หลังจากนั้น นายอธิรัฐได้นำหน่วยงานภาครัฐประชุมร่วมกับนายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา และนางเกศสุดร สังขกร รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานกลุ่มผู้ประกอบการค้าชายแดน อ.เชียงแสน เพื่อพัฒนากิจการท่าเรือดังกล่าว หลังจากทางหอการค้า จ.เชียงราย ได้ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมได้เร่งประสานกับประเทศจีนทำพิธีตราสารระหว่างไทย-จีน ในสินค้าประเภทผัก ผลไม้ เพื่อให้การส่งออกไปยังจีนตอนใต้โดยเฉพาะท่าเรือกวนเหล่ยซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนห่างจาก อ.เชียงแสน เพียง 265 กิโลเมตร ได้โดยสะดวกและรองรับการเปิดเมืองท่าของประเทศต่างๆ หลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ยุติในอนาคตด้วย รวมทั้งยังเสนอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้จัดหาเครนให้บริการผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนเนื่องจากในปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเครนยกให้เอกชนรายอื่นๆ ตู้คอนเทนเนอร์ละ 10,000-20,000 บาท
นายอธิรัฐ กล่าวว่า การพัฒนาคงต้องมองในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องผลประกอบการของท่าเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงด้าน จ.เชียงราย ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาขาดทุนปีละ 4-5 ล้านบาททุกปี ทั้งๆ ที่มีศักยภาพสูงและสามารถร่วมกันทั้ง 4 ชาติลุ่มน้ำโขงในการพัฒนาได้ ดังนั้น เมื่อมีการนำเสนอของบประมาณขึ้นไป จึงทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติด้วยเหตุผลของความคุ้มค่า ตนจึงมีแนวทางจะพัฒนาเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ด้วยการเปิดสถานที่ว่างของท่าเรือ ซึ่งพบว่ามีอยู่อย่างน้อย 30 ไร่ เพื่อเปิดให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนทำกิจกรรมด้านต่างๆ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องโลจิสติกส์หรือการค้าชายแดนเท่านั้น และไม่จำกัดว่าจะเป็นกลุ่มทุนภายในประเทศ แต่หมายถึงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีนด้วย ซึ่งเมื่อผลประกอบการเป็นรูปธรรม ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาพัฒนาเพื่อนำมาเพิ่มศักยภาพได้ต่อไป
นายอธิรัฐ กล่าวอีกว่า ด้านการขอรับการสนับสนุนเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือนั้น เป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะเมื่อมีผลประกอบการดีและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะทำให้ได้รับการสนับสนุนด้านการจัดซื้อเครนได้ต่อไป ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะใช้การเช่าเครนเพื่อให้บริการภาคเอกชนไปก่อน จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยร่วมกับทาง จ.เชียงราย เพื่อพิจารณาพัฒนาท่าเรือแม่น้ำโขงทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายและระเบียบของหลายกระทรวงและหลายหน่วยงาน ซึ่งจะรับไปประสานงานให้ในระดับกระทรวงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาท่าเรือได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีรางานข่าวเปิดเผยด้วยว่า ในการประชุมดังกล่าว คณะกรรมการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลว่า จากการประเมินศักยภาพของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 พบว่าจะอยู่ในภาวะคุ้มทุนหากมีตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าผ่านท่าเดือนละ 200-300 ตู้ แต่ปัจจุบันมีเพียงปีละประมาณ 100 ตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น ซึ่งการพัฒนาของการท่าเรือแห่งประเทศไทยปีที่ผ่านๆ มาใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน และบางครั้งนับแสนล้าน แต่ได้ผลคุ้มค่า ดังนั้น การจะเพิ่มเครนจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ต้องมีการตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนาในภาพรวมและประเมินผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับด้วย
ด้าน น.ส.ผกายมาศ กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างมากที่จะเปิดให้มีการเข้าไปลงทุนในท่าเรือแม่น้ำโขงทั้ง 2 แห่ง ซึ่งกิจการที่น่าลงทุนและเป็นไปได้มากที่สุดคือ เขตปลอดอากร เพราะนอกจากจะสามารถใช้พื้นที่ท่าเรือเพื่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าแล้วยังสามารถบรรจุหีบห่อและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดแหล่งพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกิจการด้านคลังสินค้าโดยเฉพาะประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงเพราะปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังประเทศลุ่มน้ำโขงในปริมาณมากแต่กลับไม่มีจุดเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องแล่นเรือออกไปเติมในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างมาก
“ส่วนเรื่องการจัดหาเครนยกสินค้าที่ท่าเรือนั้น เห็นว่าเป็นผลต่อเนื่องกันโดยปัจจุบันปริมาณตู้คอนเทนเนอร์อาจไม่มากเพราะต้นทุนสูง แต่หากมีเครนต้นทุนจะต่ำลง การส่งออกกจะมากขึ้น ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้น ส่งให้ผลประกอบการของการท่าเรือฯ มากขึ้นเพราะปัจจุบันสินค้าหลายชนิดที่ต้องการจะส่งออไปยังจีนตอนใต้จัดหากันแทบไม่ทัน โดยเฉพาะอาหารแช่แข็ง ผักผลไม้ ฯลฯ” รองประธานหอการค้า จ.เชียงรายกล่าว