สทนช.ขับเคลื่อนกฎหมายลำดับรอง ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ย้ำโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบทำให้ล่าช้า นำร่องคลอด 18 มาตราเร่งด่วน 23 ฉบับ โดยเฉพาะพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำใหม่ พร้อมการคัดเลือกคณะกรรมการลุ่มน้ำ หวังเปิดมิติใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช.ได้ดำเนินการจัดทำและยกร่างกฎหมายลำดับรอง (เฉพาะมาตราเร่งด่วน) ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จำนวน 18 มาตรา รวม 23 ฉบับเสร็จเรียบร้อย ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้ว ตามลำดับ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ในเร็ววันนี้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายลำดับรองอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ซึ่งทำให้การประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาทำได้ยาก เพราะต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Social Distancing) เพื่อความปลอดภัยและเป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ตาม แต่ สทนช. ก็ได้ประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองดำเนินได้โดยไม่สะดุด และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับกฎหมายลำดับรองที่สำคัญ อาทิ พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ ซึ่งเดิมนั้นได้เสนอออกประกาศเป็น 22 ฉบับ 22 ลุ่มน้ำ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มีเนื้อหาและหลักการเดียวกัน จึงควรเป็นประกาศฉบับเดียวครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ โดยแบ่งเป็นรายมาตรา คาดว่า ภายในเดือนมิถุนายน 2563 นี้ จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นก็จะมีการออกกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ด้วยวิธีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ ต่อไป
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอนาคต คณะกรรมการลุ่มน้ำจะมีบทบาทสำคัญมาก และเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะแผนงานพัฒนาทรัพยากรน้ำจากท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ จะต้องมีความเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมถึงคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ที่ร่วมกันพิจารณาตั้งแต่แรก เพื่อให้แผนงานพัฒนาทรัพยากรน้ำในแต่ละลุ่มน้ำสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และเป็นไปตามความต้องการของประชาชน ถือเป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งจากล่างขึ้นบน และจากบนลงล่าง
“โครงสร้างคณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำ จะประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน หากลุ่มน้ำใดครอบคลุมหลายจังหวัดให้ผู้ว่าราชการเลือกกันเองว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดใดจะเป็นประธาน ที่เหลือจะเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการจะประกอบด้วย ผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการในจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้แทนจากองค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้แทนจาก สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ นอกจากนี้ กรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำที่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ ยังจะได้รับการคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อกำหนดนโยบายทรัพยากรน้ำของประเทศอีกด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย