ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (National Commission on International Trade and Health Studies: NCITHS) เปิดเผยว่า จากประเด็น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ที่กำลังได้รับความสนใจมาก ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงผลดีและผลเสียอย่างรอบด้าน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ดำเนินการศึกษาถึงผลกระทบด้านต่างๆ
ในส่วนผลกระทบต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งกลไกคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ ขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อมูลให้ได้ข้อเสนอที่ชัดเจนสำหรับให้รัฐบาลนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึง คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) ที่มี นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เริ่มหารือกับนักวิชาการจากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเวียดนาม ซึ่งเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP แล้ว เพื่อทำการศึกษาร่วมกันถึงผลกระทบจาก TPP ต่อเรื่องการเข้าถึงยาด้วย ซึ่งหวังว่าข้อมูลต่างๆ ที่หลายฝ่ายกำลังศึกษานี้จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยในอนาคตเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่อง TPP
ทั้งนี้ คณะกรรมการ NCITHS ได้เห็นชอบให้ร่วมกับแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ(International Trade and Health: ITH) มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการ การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ระหว่างวันที่ ๘-๑๐ ส.ค. ๒๕๕๙ มีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ และติดตามความตกลง TPP เป็นหลัก โดยภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ตัดสินใจ สามารถใช้เวทีนี้ในการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนความสมดุลและข้อมูลเชิงประจักษ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เห็นถึงผลกระทบที่เชื่อมโยงระหว่างการค้าและระบบสุขภาพหากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก นำไปสู่การจัดทำนโยบาย มาตรการรองรับ และการชดเชยเยียวยาผลกระทบต่อไป