คลังเล็งแก้ พ.ร.ก.สรรพสามิต เพื่อขยับเพดานภาษีบุหรี่ จากเดิมที่เก็บ 80 % เพิ่มเป็น 90% ส่งผลให้ราคาบุหรี่ไทยพุ่งขึ้น 11 บาทต่อซอง ส่วนบุหรี่นอกขยับอีก 16 บาท ส่วนเพดานภาษีน้ำมัน เตรียมขยับจากลิตรละ 5 บาท เพิ่มเป็น 10 บาทขึ้นไป คาดโครงสร้างภาษีใหม่ ส่งผลให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 7-8 หมื่นล้านบาท ฟากเอกชนเบรกค่อย ๆ ขึ้นน้ำมัน หวั่นขึ้นเร็วประชาชนเดือดร้อน ขณะที่นายกฯ ยันไม่ขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-นิติบุคคล หวังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวมีเงินใช้หนี้ ด้าน “กรณ์” แจงพอใจแจกเช็คช่วยชาติ ทำให้เงินสะพัดกว่า 1.1 หมื่นล้าน ดีเดย์แจกเช็ครอบ 4 ในวันที่ 20 พ.ค.-15 มิ.ย.
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสินค้าในกลุ่มของยาสูบ และน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ นอกเหนือจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ได้ปรับภาษีขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากอัตราภาษียาสูบและน้ำมัน ปัจจุบันนี้เรียกเก็บเต็มเพดานแล้ว จึงจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.เพื่อขยับเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
จากปัจจุบันที่กระทรวงการคลังเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 80% ซึ่งจะปรับเพิ่มเป็น 90% และน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดที่ 5 บาทต่อลิตร เป็น 10 บาท แต่อัตราภาษีที่จะปรับขึ้นจริงจะเป็นเท่าใดนั้น ยังไม่สามารถระบุ ได้ในขณะนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะเสนอ พ.ร.ก. ขยายเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในส่วนของบุหรี่และน้ำมัน เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้สัปดาห์หน้า ซึ่งน่าจะเป็นวาระเดียวกับการนำเสนอ พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท
“ปัจจุบันภาษีน้ำมันมีเพดานที่ 5 บาท การขยับเพดานคืออาจขึ้นไปถึง 10 บาทก็ได้ แต่ตัวเนื้อภาษีที่จะขึ้นจริง ๆ เท่าไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนบุหรี่ถ้าจะปรับเพดานจาก 80% เป็น 90% ก็ได้ แต่ภาษีที่จะขึ้นจริงไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นชนเพดาน” รมช.คลัง กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าการปรับภาษีสรรพสามิต ทั้งหมดนี้ น่าจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้นปีละ70,000-80,000 ล้านบาท โดยในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ50,000-55,000 ล้านบาท หากท้ายสุดแล้วปรับขึ้นภาษีที่ 2 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีบุหรี่นั้นคาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มอีกปีละ 15,000-20,000 ล้านบาท ภาษีเบียร์คาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มปีละ 7,000ล้านบาท และสุราทุกประเภทได้เพิ่มอีกปีละ 3,000 ล้านบาท
“กฎหมายที่เสนอให้ปรับเพิ่มภาษีน้ำมันและบุหรี่นี้ ต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน จึงจะนำมาใช้จริง โดยระหว่างนี้ ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตเข้มงวดในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า แต่โดยปกติ กรมฯ จะมีข้อมูลการซื้อแสตมป์บุหรี่จากโรงงานผลิตอยู่แล้ว ดังนั้นจึงคาดว่าไม่น่าจะกักตุนได้มาก ทั้งนี้การออกกฎหมายครั้งนี้ เข้มงวดเฉพาะสินค้าบาป แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ส่งเสริมให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมากับเหล้ายา สอดคล้องไปกับต้องการลดงบการให้บริการสาธารณสุข ที่ต่อปีต้องใช้เพื่อดูแลผู้ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ถึง 150,000 ล้านบาท” นายพฤฒิชัย กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อปรับภาษีและราคาขายใหม่แล้วนั้น จะมีผลทำให้บุหรี่ไทยราคาเพิ่มขึ้น 11 บาท บุหรี่ต่างชาติราคาเพิ่มขึ้น 16 บาท โดยคิดจากราคาบุหรี่ไทยปัจจุบันซองละ 45 บาท เสียภาษีฐานเดิม 80% คิดเป็นเงินภาษี 23.92 บาท ส่วนราคาใหม่จะอยู่ที่ 56 บาท เสียภาษีที่ 85% ต้องเสียภาษี 34.92 บาท หรือเพิ่มขึ้น 11 บาท หากเป็นบุหรี่นอก ราคาปัจจุบัน 65 บาท เสียภาษีอัตราเดิม32.68 บาท ราคาใหม่ที่ 71 บาท เสียภาษี 85% หรือ 48.60 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้น 16 บาท
ส่วนภาษีน้ำมันดีเซลอัตราภาษีเดิมอยู่ที่ลิตรละ 4 บาท ภาษีใหม่ลิตรละ 5 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 1 บาท น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 นั้น ภาษีเดิมอยู่ที่ลิตรละ 5 บาท ภาษีใหม่อยู่ที่ลิตรละ 7 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 2 บาท
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ชี้แจงกรณีหารายได้มากระตุ้นเศรษฐกิจว่า สำหรับวิธีการหารายได้อื่นนอกเหนือจากการกู้เงิน และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบางส่วนเพิ่มขึ้นนั้น โครงสร้างภาษีอื่น ๆ อาทิ ภาษีทรัพย์สิน และภาษีมรดกก็ยังจะเดินหน้าต่อไป แต่ทั้งสองเรื่องต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ขอย้ำว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายปรับเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ มั่นใจว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นในเร็ววันนี้ ประเทศไทยก็จะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งก็จะมีเงินเหลือนำไปชำระหนี้ต่าง ๆ ได้