เล็งดันเกษตรกรผลิตสินค้าคุณภาพ
ยกระดับสู่นักขายผ่านระบบออนไลน์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งทุกหน่วยงานปรับฐานวิถีดำเนินงานภาคการเกษตรใหม่ (New Normal) ทั้งหมดในภาวะที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 และหลังสถานการณ์โรคคลี่คลาย ส่วนหนึ่งคือ การเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรในการผลิตและเป็นผู้ค้ามืออาชีพ โดยเฉพาะจากนี้ไปการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์จะมีความสำคัญยิ่งขึ้น จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ขึ้นมาดำเนินการเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรรายงานผลการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่าน www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เปิดตัววันที่ 29 เมษายน ยอดผู้เข้าชมสะสม 2 สัปดาห์ เฉลี่ย 3,212 ครั้ง/วัน มีสินค้าจากทั่งประเทศจำหน่าย 508 รายการ แบ่งเป็น 9 ประเภท ได้แก่ อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ไม้ดอกไม้ประดับ ผัก ข้าวและธัญพืช หัตถกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สมุนไพรและเครื่องสำอาง ผลไม้ สินค้าเกษตรอื่นๆ รวมถึงผ้าและเครื่องแต่งกาย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 5 กลุ่ม คือ วิสาหกิจชุมชน Young Smart Farmer (YSF) สมาชิกกลุ่มส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ องค์กรเกษตรกร และ Smart Farmer (SF) รวมรายได้จากการจำหน่ายสินค้า 7,803,638 บาท หรือเฉลี่ย 101,346 บาท/จังหวัด
สำหรับยอดจำหน่ายสินค้าสะสมมากที่สุด 20 จังหวัดแรก ได้แก่ ชัยภูมิ ลำพูน ขอนเเก่น สงขลา มหาสารคาม ตราด จันทบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สกลนคร สมุทรปราการ ตาก อุตรดิตถ์ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ตรัง พังงา พะเยา พิษณุโลก และปัตตานี ส่วนสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 20 รายการแรก คือ ส้มโอจีไอ (GI) บ้านแท่นของชัยภูมิ ข้าว กข 43 ของราชบุรี มะม่วงวาริชของสกลนคร ปลาสลิดแดดเดียวของสมุทรปราการเมล่อนของพระนครศรีอยุธยา ต้นพันธุ์อโวคาโดสวนวังพลากรของตาก มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของขอนเเก่น มะม่วงมหาชนกของมหาสารคาม มังคุดทิพย์พังงา (อินทรีย์) ของพังงา
ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองของลำพูน เม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูปของอุตรดิตถ์ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแลของอุตรดิตถ์ กล้วยตากของพิษณุโลก เมล่อนของตราด และน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100% ของปัตตานี พริกแกงบ้านตีนของสงขลา แชมพูดอกอัญชันของกรุงเทพฯ ข้าวสารเพื่อสุขภาพของประจวบคีรีขันธ์ ทุเรียนทอดกรอบของจันทบุรี และข้าวสิริมณีไรซ์ของพิษณุโลก
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สำรวจข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์กลุ่มเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ 234 กลุ่ม ใน 57 จังหวัด พบว่า ยอดจำหน่ายเดือนมีนาคมกว่า 45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่มียอดจำหน่าย 36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26
“กระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นความสำคัญในการเพิ่มช่องทางการตลาดให้เกษตรกรกระจายผลผลิตทางการเกษตรผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือการทำธุรกิจการเกษตรอี-คอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายผลผลิตและสินค้าเกษตร โดยจัดทำหลักสูตรส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและเป็นนักขายทางออนไลน์มืออาชีพ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศได้” นายเฉลิมชัย กล่าว
เปิดยุทธศาสตร์“เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้กำหนดนโยบายตลาดนำการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคการเกษตรให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยช่วยกันหาตลาดจำหน่ายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศเพื่อรองรับผลผลิตและสินค้าเกษตรและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะเล็งเห็นว่าขณะนี้ทั่วโลกมีความต้องการอาหารและสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะที่ไทยมีศักยภาพการผลิตสูงจึงมุ่งเป็นครัวของโลก
ทั้งนี้ จะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร 4 หมวด คือ พืช ปศุสัตว์ ประมง และการแปรรูป ซึ่งทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์จะขยายการรับซื้อของตลาดเดิมและหาตลาดส่งออกใหม่ไปทั่วโลก จากนั้นจึงจะส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตสินค้าเกษตรที่ตรงกับความต้องการในตลาด ซึ่งเป็นการรับประกันได้ว่าเกษตรกรจะขายผลผลิตได้แน่นอน ยังผลให้มีความเป็นอยู่ที่ขึ้น โดยเน้นส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรรายย่อยให้มีทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตและสินค้าแปรรูปผ่านระบบออนไลน์ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
นอกจากนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรฯ รายงานว่าได้ประชุมเพื่อวางแผนปฏิบัติการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกเกษตรอาหารที่สำคัญ 1 ใน 5 ของโลก และเตรียมแผนรองรับภาวะขาดแรงงานภาคเกษตร เพราะกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอีก 3 ปีข้างหน้า ทำให้มีจำนวนผู้สูงวัยคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของจำนวนประชากร โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายด้านต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness)