เมื่อช่วงวันที่ 16 -18 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกคณะที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ พร้อมด้วยผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดร.ธีธัช สุขสะอาด เดินทางไปประเทศอินเดีย โดยจุดมุ่งหมายเพื่อเจรจากับนายกรัฐมนตรีอินเดีย ภายใต้กรอบการค้าทวิภาคี เพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งในส่วนยางพาราจะขอปรับลดอัตราภาษีนำเข้าในรูปแบบวัตถุดิบจากเดิม 25% เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการอินเดียหันกลับมาซื้อยางพาราจากไทยมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแผนเพิ่มสัดส่วนส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราโดยในวันที่ 6 – 8 มิถุนายน ที่ผ่านมาการยางแห่งประเทศไทย ก็ได้เข้าไปร่วมประชุมเจรจาการค้าการลงทุนที่อินเดีย โดยมีผู้แทนสภาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอินเดีย ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตยางล้อประเทศอินเดีย ผู้แทนบริษัทผลิตล้อรถยนต์ และผู้แทนบริษัทผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆรวมทั้งสิ้น 21 คน ซึ่งผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย บอกว่าความต้องการใช้ยางของอินเดียต่อปีมีมากถึง 1,000,000 ตัน ซึ่งกว่า 90% จะถูกแปรรูปเป็นยางล้อในรูปแบบต่างๆ แต่อินเดียผลิตยางได้น้อยกว่าความต้องการใช้งาน ประมาณปีละ 416,000 ตันส่วนที่เหลือจึงต้องนำเข้ายางจากอินโดนีเซีย 46% จากไทย 26% และจากเวียดนาม 20% โดยเป็นการนำเข้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 และยางแท่ง STR 20
ปี2558 การส่องออกยางจากไทยไปอินเดียรวม 98,859 ตัน เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 จำนวน 35,120 ตัน และยางแท่ง STR 20 จำนวน 63,739 ตัน ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับเวียดนามถึง 10% เนื่องจากปัจจัยในเรื่องของราคา และภาษีนำเข้าวัตถุดิบยางพาราในอินเดียที่สูงถึง 25% แต่ในปี 2559 – 2560 กยท. ได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนส่งออกยางไปอินเดียเพิ่มขึ้น 100,000 ตัน โดย 70% เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 และ 30% เป็นยางแท่ง STR 20
ในการไปอินเดียครั้งล่าสุดไทยได้พกข้อเสนอไปด้วย 3 ข้อเพื่อหวังเพิ่มการใช้ยางของอินเดีย นั่นคือ 1.ให้อินเดียซื้อยางโดยตรงผ่าน กยท. แก่ผู้ประกอบการในอินเดียที่อยู่ในรูปแบบสมาคมธุรกิจ เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางการค้า เพราะกยท. เป็นรัฐวิสาหกิจของไทยไม่มุ่งหวังกำไรสูงสุดเหมือนเอกชน 2.เชิญชวนผู้ประกอบการในอินเดียมาลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมยางในไทยตามโครงการ Rubber City และ3. กยท.จัดหายางเพื่อเป็นวัตถุดิบเข้าโรงงานในอินเดีย แปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ร่วม (Co – Branding) ส่วนหนึ่งใช้ขายทั่วไป อีกส่วนหนึ่งส่งกลับมาใช้ในกิจการของรัฐ
อย่างไรก็ตามพบว่าความต้องการยางพาราในตลาดโลกขยายตัวก้าวกระโดด ตลาดหลักคือจีนและอินเดีย ขณะที่ไทยคิดจะเป็นผู้นำตลาดแบบไร้คู่แข่ง ซึ่งความต้องการใช้ยางพาราของอินเดีย ชัดเจนตั้งแต่ปี2554ที่ผลผลิตไม่พอกับความต้องการใช้ ต้องนำเข้าไม่น้อยกว่า 144,000 ตัน ซื้อจากไทยและอินโดนีเซียเป็นหลัก สาเหตุสำคัญคืออุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตสูง ขณะผลผลิตในประเทศเพิ่มไม่มาก ทั้งแนวโน้มความต้องการยางพาราตลาดโลกขยายตัวสูงต่อเนื่องในปี2558 คาดกันว่าจะมีความต้องการ 13.1ล้านตัน และในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 15.4 ล้านตัน
ว่ากันว่าภาคอีสานของไทยมีความชื้นสูงขึ้น เหมาะแก่การปลูกยางพารา ซึ่งถ้าจะกล่าวแบบสรุปรวบรัดขณะนี้ก็ต้องบอกว่าไทยปลูกยางพาราได้ทุกพื้นที่ของประเทศ เมื่อเทียบกับอินเดีย ที่มีพื้นที่ปลูก 4.3 ล้านไร่ (ไทย 16 ล้านไร่) ผลผลิตต่อไร่ของอินเดีย 285.44 กิโลกรัม/ไร่ (ไทย ประมาณ 280 กิโลกรัม/ไร่) และพื้นที่เพาะปลูกยางของอินเดีย 76% กระจุกตัวอยู่ที่รัฐเกรละโดยเป็นรัฐที่ผลิตยางพาราได้ถึง 92% แม้จะพยายามปลูกที่รัฐอื่นเพิ่ม แต่ผลผลิตต่อไร่ก็ไม่สูงเท่า (ฤดูฝนของเกรละเป็นช่วง มิย.-ส.ค.) เป็นรัฐเดียวที่มีภูมิประเทศ และฝนตกชุกคล้ายภาคใต้ของไทย มีความพยายามพัฒนาสายพันธุ์ยางฯให้ทนอากาศร้อนและสามารถปลูกนอกเกรละแต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทำให้อินเดียพิจารณาลงทุนปลูกยางพาราในแอฟริกาเพื่อตอบรับกับปัญหายางพาราที่จะขาดแคลนในอนาคต
ทั้งนี้ยังพบอีกว่า อินเดียมีผู้ผลิตยางรถยนต์ รายใหญ่ 7 ราย มีส่วนแบ่งตลาด 85% ของตลาดยางรถยนต์ ประกอบด้วยยี่ห้อ MRF, Apollo, JK Inds, CEAT, Goodyear, Bridgestone และ Falcon ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้เข้าร่วมพบปะกับผู้ประกอบการยางพารา และไม้ยางพาราจังหวัดตรังด้วยเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คาดกันว่าจะมียอดการส่งออกไม้ยางพาราจะเพิ่มเป็น 20,000 ล้านบาท ขยายตัว 20% เมื่อเทียบกับปี 2553 อันเป็นผลจากการเปิดตลาดยางในอินเดีย
ขณะนั้นอาจพูดได้ว่าไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดยางพาราโลก ในขณะที่ความต้องการยางพารายังคงสูง แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อปรากฏว่าในปี 2556 ได้เกิดวิกฤติราคายางพาราตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด จนเป็นที่มาของม็อบ ควนหนองหงษ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็ลุกลามกินระยะเวลาทอดยาวเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน แม้รัฐบาลคสช.โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้ง กยท.จะพยายามผลักดันส่งตลาดยางพาราไทยให้ทะยานขึ้นอีกครั้ง แต่ต้องไม่ลืมชาวสวนยางในประเทศด้วยว่า พวกเขาพร้อมที่จะออกมาส่งเสียงดังๆอีกครั้งเมื่อถึงสภาวะยาง 3โลร้อย???