สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ทางเลือก..ทางรอด ประเทศไทย ยุคโควิด – 19” กลุ่มตัวอย่าง 1,070 คน สำรวจระหว่างวันที่ 15 – 19 มิถุนายน 2563 สรุปผลได้ ดังนี้ “ทางเลือก..ทางรอดของเศรษฐกิจไทย” กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในด้านปัญหาเศรษฐกิจจะสามารถแก้ไขได้จะต้องเน้นสร้างงาน สร้างอาชีพ ร้อยละ 81.07 รองลงมาคือ อยากให้มีการพักหนี้ (ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) ร้อยละ 55.23 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของประชาชนให้มากขึ้น ร้อยละ 54.12 มีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้อยละ 52.78 และรัฐบาลฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจนถึงระดับรากหญ้า ร้อยละ 44.10 จากผลการสำรวจดังกล่าว ทำให้เห็นว่าประชาชนอยากให้เน้นแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงาน อยากให้มีงานทำ เพื่อจะได้เกิดรายได้ ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาระดับบุคคลที่เห็นภาพ ได้ชัดเจน เพราะหากประชาชนมีงานทำ ก็จะได้มีรายได้ มีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยนั่นเอง
“ทางเลือก..ทางรอดของสังคมไทย” ในด้านสังคมไทยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า ประชาชนควรยึดหลักพอเพียงในการดำรงชีวิต ร้อยละ 83.56 รองลงมาคือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจให้แก่กัน ร้อยละ 78.67 ทุกคนควรมีสติ มีความอดทน ร้อยละ 74.67 มีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ ร้อยละ 73.78 และควรเคารพกติกาของสังคม ร้อยละ 67.33 จากผลการสำรวจดังกล่าว จะเห็นได้ว่าในภาพรวมปัญหาของสังคม เป็นปัญหาที่ทุกคนสามารถแก้ไขร่วมกันได้ ตั้งแต่ยึดหลักการพอเพียงในการดำเนินชีวิต มีน้ำใจต่อกัน มีสติในการใช้ชีวิต ช่วยเหลือกัน โดยอยู่ในพื้นฐานการเคารพกฎหมายของบ้านเมือง ก็จะทำให้ปัญหาสังคมผ่านพ้นไปได้
“ทางเลือก..ทางรอดของการเมืองไทย” ปัญหาในด้านการเมืองไทย กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ควรทำมากที่สุด คือ นักการเมืองทุกระดับต้องไม่ทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 83.67 รองลงมาคือ ไม่เห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ ร้อยละ 81.21 เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ร้อยละ 74.27 บริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล ร้อยละ 69.80 และเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการทำงานอย่างเป็นระบบ ร้อยละ 66.44 จากผลการสำรวจดังกล่าว ทำให้สะท้อนภาพปัญหาทางการเมืองที่ คนไทยมองว่ามีปัญหามายาวนานนั้นมาจากปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาด้วยการไม่ทุจริต ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง เห็นแก่ประชาชน มีธรรมาภิบาล และต้องให้ทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้
ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นความคิดและมุมมองของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นประชาชน คนไทยที่มองเห็นสภาพปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ โดยอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ประชาชนและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการพัฒนาในทุก ๆ ด้านต่อไป