เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.63 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยช่วงเช้าพบปะกลุ่มเกษตรกรปลูกหญ้าเพื่อจำหน่ายบ้านมอดินแดง ปลูกหญ้าจากน้ำเสียโรงงานแป้งมันจำหน่ายทางออนไลน์ ณ บ้านมอดินแดง ต.โพนทอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ จากนั้นเป็นประธานส่งมอบพันธุ์สัตว์ปีกและปัจจัยการผลิต ภายใต้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย ตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกร ผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 พร้อมติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกและสถานการณ์ภัยแล้ง และพบปะเกษตรกร ณ ที่ว่าการอำเภอกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ และสหกรณ์การเกษตรเชียงยืนจำกัด อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม
นายประภัตร กล่าวว่า ปัจจุบันอาชีพทำนาประสบปัญหาเนื่องจากฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง และอุทกภัย ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งอาชีพด้านปศุสัตว์และการปลูกพืชสำหรับอาหารสัตว์นั้น สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ(MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย (โคขุนกู้วิกฤต Covid-19)ในวงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรต้องรวมกลุ่มจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน อย่างน้อย 7 คน กู้ได้ไม่เกินกลุ่มละ 10 ล้านบาท หรือกู้ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 100 บาท โดยมีคอกกลางรับซื้อ
“วันนี้ได้มาชี้แจงโครงการฯ ให้กับเกษตรกรได้เข้าใจ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมกับลงพื้นที่แปลงนาสำรวจความเสียหาย ซึ่งคาดว่าหากภายใน 2 สัปดาห์ไม่มีฝนตกลงมานาข้าวก็จะเสียหาย ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกจึงต้องนำโครงการฯ ส่งเสริมเลี้ยงสัตว์นี้เข้ามาช่วยพี่น้องเกษตรกร ทั้งนี้ ความต้องการโคเนื้อของต่างประเทศมีมากถึง500,000 - 1,000,000 ตัวต่อปี ไก่พื้นเมืองโดยเฉพาะตลาดประเทศกัมพูชา ต้องการไม่น้อยกว่า 50,000 ตัวต่อวัน ส่วนแพะมีความต้องการ 200,000 - 300,000 ตัวต่อปี และจากรายงาน ของ USDA (April 2020) ในปี 2563 คาดว่า ความต้องการบริโภคเนื้อโคของโลกมีมากถึง 60 ล้านตัน เนื้อสุกร 90 ล้านตัน และเนื้อไก่ 98 ล้านตัน ซึ่งความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของพี่น้องเกษตรกรได้สร้างรายได้” นายประภัตร กล่าว
นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่มผู้ปลูกหญ้าบ้านมอดินแดง ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี2554 ปัจจุบันมีสมาชิก 73 ราย พื้นที่เพาะปลูกหญ้า 853 ไร่ และมีแผนขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นเนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี ซึ่งเดิมเกษตรกรชาวบ้านมอดินแดง ทำการปลูกมันสำปะหลัง แต่ให้ผลผลิตได้ไม่ตลอดทั้งปี จึงหันมาปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่ายโดยไม่พึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานและน้ำใต้ดินเนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ได้ใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่เป็นแหล่งน้ำตลอดทั้งปี และหญ้าดังกล่าวสามารถตัดจำหน่ายได้ตลอดทั้งปีเช่นเดียวกัน
โดยจำหน่ายทั้งหญ้าสดและหญ้าหมัก มีตลาดรองรับ และปัจจุบันได้พัฒนาช่องทางการขายทางออนไลน์ เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขาย อีกทั้งยังได้มอบนโยบายในการสนับสนุนปลูกหญ้าเนเปียร์สร้างรายได้ภายใต้โครงการฯ ซึ่งได้ดำเนินการ kick off ไปแล้วแห่งแรกที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อส่งผลิตอาหารแบบผสมเสร็จ TMR สำหรับโคขุนให้ได้รับอาหารที่ดี เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์โดยได้รับการสนับสนุนน้ำจากโรงงานแป้งมัน ธกส.สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรเพื่อการเตรียมดินปลูกหญ้า พร้อมกันนี้มีประกันราคาซื้อ50 สตางค์/กก. โดย 1 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 8 ตัน เกษตรกรจะมีรายได้ 4,000 บาท/ไร่/รอบ (ตัดที่อายุ 50 วัน/รอบ ตัดหญ้าได้ 5 รอบ/ปี)
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีแหล่งน้ำสำคัญคือเขื่อนลำปาว แต่พบว่ามีปัญหาระบบการกระจายน้ำในพื้นที่ลาดชันต่างระดับ ดังนั้นเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ได้รับน้ำเพื่อทำการเกษตรอย่างทั่วถึง จึงได้หารือร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมน้ำบาดาล วางแผนร่วมกับจังหวัดในการปรับปรุงระบบกระจายน้ำแก่เกษตรกรต่อไป