มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0808.3/ว 3843 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เรื่อง แนวทางการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และถือปฏิบัติต่อไป
สำหรับหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศ พ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2563 นั้น กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้
1. พ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 ได้ประกาศและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2563 โดยมีสาระสำคัญเป็นการลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 สำหรับการจัดเก็บภาษีประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่ง อปท.หลายแห่งได้แจ้งประเมินและจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
แต่เนื่องจาก พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับภายหลังจากที่ อปท.แจ้งการประเมินภาษี ดังนั้น อปท.จึงมีอำนาจที่จะทบทวนการประเมินภาษีให้ถูกต้องตามที่ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสียได้ และในกรณีที่มีการชำระภาษีไว้เกินจำนวนที่จะต้องเสีย ให้ อปท.มีหนังสือแจ้งผู้เสียภาษี เพื่อให้ผู้เสียภาษีมารับเงินที่ชำระเกินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ตามมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ โดยไม่ถือเป็นความผิดพลาดจากการประเมินของ อปท.ตามมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
2. เพื่อให้การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้จังหวัดแจ้งแนวทางการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 ให้ อปท.ทราบ และถือปฏิบัติต่อไป
ส่วนแนวทางปฏิบัติเรื่องการลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 มีดังนี้
1. กรณีอยู่ระหว่างจัดทำหนังสือแจ้งประเมินภาษีดินและสิ่งปลูกสร้าง
1.1 ให้ อปท.ประเมินภาษี โดยคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีที่ต้องเสีย และให้ลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมเป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการประกอบเกษตรกรรม หรือเป็นที่อยู่อาศัย หรือทิ้งว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563
1.2 เนื่องจากตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ กำหนดให้ลดภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย ดังนั้น เมื่อมีการลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จึงไม่สามารถลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 50-90 ตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ตินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ได้อีก
1.3 หากจำนวนภาษีที่คำนวณได้ภายหลังจากลดภาษีร้อยละ 90 แล้ว ยังสูงกว่าที่เคยชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ในปี พ.ศ. 2562 ผู้เสียภาษียังคงมีสิทธิได้รับการบรรเทาภาระภาษี
เช่น หากภาษีที่คำนวณได้ในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 1,000 บาท ลดภาษีร้อยละ 90 คงเหลือจำนวนภาษีที่ต้องชำระ 100 บาท ถ้าปี พ.ศ. 2562 เสียภาษี จำนวน 80 บาท ภาษีในปี พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้น 20 บาท ผู้เสียภาษีจะได้รับการบรรเทาการชำระภาษีร้อยละ 25 โดยเสียภาษีจำนวน 80+5 (ร้อยละ 25 ของ 20) เท่ากับ 5 บาท (รายละเอียดปรากฏตามตัวอย่างคำอธิบายเพิ่มเติมประกอบหนังสือหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ)
2. กรณีแจ้งประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีแล้วให้ อปท.ดำเนินการตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่คืนและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยทบทวนการประเมินภาษีให้ถูกต้องตามที่ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสีย และส่งหนังสือแจ้งประเมินฉบับใหม่ให้ผู้เสียทราบ ทั้งนี้ ให้ใช้แนวทางการคำนวณภาษีตามข้อ 1.
3. กรณีแจ้งประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี และผู้เสียภาษีชำระภาษีแล้วให้ อปท.คำนวณภาษีใหม่ตามแนวทางข้อ 1 หากพบว่าไม่ถูกต้องตามที่ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสีย ให้ดำเนินการ ดังนี้
3.1 แก้ไขจำนวนเงินในทะเบียนคุมผู้เสียภาษี พร้อมทั้งลงลายมือชื่อพนักงานประเมินกำกับตรงบริเวณที่แก้ไข
3.2 หากผู้เสียภาษีชำระภาษีไว้เกินจำนวนภาษีที่จะต้องเสียให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทำบันทึกเสนอผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อขออนุมัติคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกินให้แก่ผู้เสียภาษี
3.3 ให้ อปท.ถอนคืนเงินรายรับตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 94 และระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงินการเก็บรักษาเงิน การนำส่งเงิน และการตรวจเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ข้อ 33 แล้วแต่กรณี
3.4 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งไห้ผู้เสียภาษีทราบ เพื่อมารับเงินที่ชำระเกินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 53 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562