ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กรมอุทยานฯ จัดงาน “วันเสือโคร่งโลก”
30 ก.ค. 2563

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิฟรีแลนด์ และแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด “ป่าไทยไม่ไร้เสือ - Roar for Thai Tigers”

วันเสือโคร่งโลก (Global Tiger Day) ถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2553 โดยที่ประชุมมีมติให้มีการรณรงค์อนุรักษ์ เสือโคร่ง ทุกวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี และในปีเดียวกันนี้ ประเทศไทยได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในทวีปเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีผู้แทนจากประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง จำนวน 13 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการประชุมดังกล่าว ทั้ง 13 ประเทศ ต่างประกาศเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาหัวหิน เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ให้มากขึ้นเป็นสองเท่า ภายในปี พ.ศ. 2565

นายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานในงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 (Global Tiger Day 2020) ภายใต้แนวคิด “ป่าไทยไม่ไร้เสือ - Roar for Thai Tigers” พร้อมทั้งนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  นายสมปอง ทองศรีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ผู้แทนเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผู้แทน เอกอัคราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมทั้งผู้แทนจากองค์กรที่ร่วมจัดงาน เช่น wcs TRAFFIC  มูลนิธิสืบฯ คณะวนศาสตร์ มก. ผู้นำเยาวชนกระเหรี่ยงทุ่งใหญ่ สมาคมผู้พิทักษ์ป่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00 น.

นายพงศ์บุญย์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และองค์กรพันธมิตร ร่วมกันจัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ขึ้น และยังเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งด้วย รัฐบาลไทยตระหนักถึงคุณค่าของเสือโคร่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างยิ่ง เสือโคร่งเป็น Umbrella species ผืนป่าที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่จะมีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพ อุดมไปด้วยสัตว์ป่าทั้งที่เป็นเหยื่อและสัตว์ป่าอื่นๆ และสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด

ในปี 2563 เรามีเสือโคร่งในธรรมชาติประมาณ 160 ตัว เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 60-80 ตัว เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทีมนักวิจัย จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง ความทุ่มเทในการทำงานของทุกท่านได้ประสบผลสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เกินความคาดหมาย และจะต้องสำเร็จผลเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต”

นายประกิต กล่าวถึงการจัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ว่า “การจัดงานวันเสือโคร่งโลกในปีนี้ กรมอุทยานฯ และองค์กรพันธมิตร หวังให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าของเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ของโลก และต้องการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทย ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ พัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านนี้ขึ้น ทั้งงานด้านวิชาการ งานป้องกันปราบปราม งบประมาณ ศักยภาพของเจ้าหน้าที่ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนต้องการที่จะหาแนวร่วมจากคนรุ่นใหม่เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ให้ยั่งยืนสืบไป”

กิจกรรมในงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ประกอบด้วย

1) การเสวนาเรื่อง “ป่าไทยไม่ไร้เสือ - Roar For Thai Tigers” วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติที่มีต่อเสือโคร่งจากบุคคลที่มีบทบาทในสังคมแตกต่างกัน

- ดำเนินรายการโดย ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

- ร่วมเสวนาโดย ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ (ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย), ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ (นักวิจัยเสือโคร่ง)และเต้ย จรินทร์พร (ดารานักแสดง)

2) Tiger Talk อนาคตเสือไทย อนาคตเสือโลก วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ซึ่งเป็นการร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์เสือโคร่งของไทยสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งของโลก จากมุมมองของนักวิจัย ผู้พิทักษ์ป่า ผู้แทนองค์กรด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า และผู้นำชุมชนในพื้นที่กันชน (buffer zone)

3) นิทรรศการ 6 เรื่อง ได้แก่ หัวใจแห่งการเรียนรู้เสือโคร่ง หัวใจแห่งการปกป้องเสือโคร่ง หัวใจแห่งการเพิ่มจำนวนเสือโคร่ง หัวใจแห่งการกำหนดทิศทางการอนุรักษ์เสือโคร่ง หัวใจแห่งการสนับสนุนงานอนุรักษ์เสือโคร่ง และหัวใจแห่งการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน จัดแสดงบริเวณผนังโค้ง ชั้น 5 ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2563

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...