วันที่ 30 ก.ค.2563 เฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า เผยแพร่ข่าวดีประเทศไทยขึ้นแท่นอันดับ 1 ประเทศที่ดีที่สุดด้านการฟื้นตัวจากโควิด-19 จากการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ที่ใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ดูภาพรวมในมิติต่าง ๆ ในด้านการฟื้นตัว (Global Recovery Index) และด้านความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index) โดยประเทศไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุด ในทั้งสองมิติ จาก 184 ประเทศทั่วโลก
Global Recovery Index เป็นดัชนีที่แสดงถึงการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ซึ่งคะแนน 70% มาจากตัวชี้วัด 4 ด้าน โดยประเมินผล (คะแนนสูง หมายถึงฟื้นตัวได้ดี )ได้แก่
1. จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังดูแลอยู่ (active case) ต่อประชากร 2. ผู้ที่รักษาหายแล้วต่อผู้ติดเชื้อ 3. จำนวนการตรวจต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ 4. จำนวนการตรวจต่อประชากร
ส่วนอีก 30% เป็นคะแนนคงที่ที่ได้มาจากดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (The Global Health Security Index: GHS) ที่ประเมินโดยมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา ใน 3 หมวดหมู่ คือ
1. ความสามารถในการตรวจพบและรายงานการติดเชื้อ 2. ความสามารถในการตอบสนองอย่างรวดเร็วในการควบคุมโรค 3. ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขในการรักษาผู้ติดเชื้อและดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ประเทศไทย ติดอันดับหนึ่งของโลกด้วยคะแนนรวม 82.27 และจัดอยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 5 คือ ประเทศที่บรรเทาการระบาดของไวรัสได้ก้าวหน้าที่สุดในโลก
ทั้งนี้ ดัชนีที่ GCI ใช้วัด คือ Global Severity Index เป็นดัชนีที่แสดงถึงความรุนแรงของสถานการณ์ของโรคโควิด-19 โดยประมวลผลจาก (คะแนนน้อย หมายถึงความรุนแรงน้อย) คะแนน 70% เป็นค่าความรุนแรง ซึ่งวิเคราะห์ประจำวันมาจาก 2 ส่วน 1. จำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากร 2. สัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ และต่อประชากร
คะแนน 30% เป็นคะแนนคงที่ที่ได้มาจากดัชนีความปลอดภัยทางสุขภาพทั่วโลก (The Global Health Security Index: GHS) ที่ประเมินโดยมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อวัดความพร้อมของแต่ละประเทศในการรับมือกับโรคระบาด แบ่งเป็น 2 หมวด ประกอบด้วย
1. ความสามารถในการป้องกันโรคระบาด 2. ความสามารถของระบบสาธารณสุขในการควบคุมการระบาด
ประเทศไทยได้คะแนนรวม 10.70 อยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 1 หมายถึงประเทศที่รับมือกับวิกฤตได้ดี โดยมีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อต่ำ และมีผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร